นิรภัย (บาลีวันละคำ 2,730)
นิรภัย
อาจจะยังไม่ปลอดภัย
อ่านว่า นิ-ระ-ไพ
แยกศัพท์เป็น นิร + ภัย
(๑) “นิร”
เป็นศัพท์จำพวก “อุปสรรค” ในบาลีเข้าใจกันว่ารูปคำเดิมคือ “นิ”
นักเรียนบาลีในเมืองไทยท่องกันว่า “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก”
อภิปรายแทรก :
อาจารย์ผู้สอนบาลีแสดงความเห็นว่า อุปสรรคตัวนี้เป็น “นิ” (สระ อิ) ตัวหนึ่ง เป็น “นี” (สระ อี) ตัวหนึ่ง คือ “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก” แต่เนื่องจากตำราพิมพ์ผิด “นี” ตัวหลังพิมพ์เป็น “นิ” กลายเป็น “นิ” ทั้ง 2 ตัว แล้วไม่ได้แก้
ลองตรองดูก็ประหลาดอยู่ ถ้าเป็น “นิ” เหมือนกันทั้ง 2 ตัว ไฉนจึงแยกเป็น “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก” ทำไมจึงไม่ว่า “นิ = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก” รวดเดียวไปเลย
อาจารย์ผู้สอนบาลีรุ่นใหม่จึงยุติว่า “นิ” ตัวหลังต้องเป็น “นี” คือต้องเป็น “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก”
ถ้ายุติดังว่านี้ อุปสรรคตัวนี้ก็คือ “นี” = ไม่มี, ออก ลง ร อาคม รัสสะ อี เป็น อิ : นี + ร = นีร > นิร
อักษรจำพวกที่เรียกว่า “อาคม” นี้ยังมีอีกหลายตัว เหตุผลสำคัญที่ต้องลงอาคมก็เพื่อให้เกิดความสละสลวยหรือคล่องปากเมื่อออกเสียง
ในสันสกฤต อุปสรรคตัวนี้เป็น “นิร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นิรฺ : (นิบาต) นิบาตและอุปสรรคบอกอสังศยะหรือความเชื่อแน่; ความประติเษธ; ความปราศจาก; a particle and prefix implying certainty or assurance; negation or privation; – (กริยาวิเศษณ์ หรือ บุรพบท) ภายนอก, นอก, ออก, ปราศจากหรือไม่มี, พลัน; outside, out, without, forth.”
(๒) “ภัย”
บาลีเป็น “ภย” (พะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ ภี เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (ภี > เภ > ภย)
: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)
“ภย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”
ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลีที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous
นิร + ภย = นิรภย > นิรภัย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิรภัย : (คำวิเศษณ์) ไม่มีภัย, แคล้วคลาดจากภัยอันตราย. (ส.).”
ขยายความ :
ในบาลีมีคำว่า “นิพฺภย” (นิบ-พะ-ยะ) ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกับ “นิรภัย” แปลว่า ปลอดจากความกลัวหรืออันตราย, ไม่หวั่น, ไม่กลัว (free from fear or danger, fearless, unafraid)
แต่ถ้าจะพูดถึงคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ “ภย” หรือ “ภัย” ไม่ใช่คำเชิงปฏิเสธเหมือน “นิรภัย” หรือ “นิพฺภย” บาลีนิยมใช้คำว่า “เขม” (เข-มะ) ที่เราเอามาทับศัพท์ตามรูปสันสกฤตเป็น “เกษม”
“เขม” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เกษม, ปลอดภัย; ราบรื่น, สงบ (full of peace, safe; tranquil, calm)
(2) เป็นคำนาม หมายถึง สถานที่พักพิง, สถานที่อันปลอดภัย, ความราบรื่น, ที่สงบ, ที่เยือกเย็น (shelter, place of security, tranquillity, home of peace, the Serene)
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอเทียบกับคำว่า “หิว”
ภย > ภัย = หิว
นิพฺภย > นิรภัย = ไม่หิว (ความหมายเชิงปฏิเสธ)
เขม > เกษม = อิ่ม (ความหมายตรงข้าม)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เมื่อใดกิเลสปลอดจิต
: เมื่อนั้นชีวิตปลอดภัย
#บาลีวันละคำ (2,730)
3-12-62