สืบมรรคา (บาลีวันละคำ 2,731)
สืบมรรคา
สืบหาความหมายของคำว่า “มรรคา”
ผู้เขียนบาลีวันละคำไปดูโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ซึ่งเปิดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2562
ปีนี้โขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอน “สืบมรรคา” ว่าด้วยหนุมานรับราชโองการของพระรามนำพลพรรคดั้นด้นหาหนทางไปยังกรุงลงกาเพื่อช่วยนางสีดา
จึงขอถือโอกาสนำชื่อนี้มาเขียนเพื่อสืบหาความหมายของคำว่า “มรรคา”
“มรรคา” อ่านว่า มัน-คา คำนี้บาลีเป็น “มคฺค” (มัก-คะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) มคฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; แสวงหา) + อ ปัจจัย
: มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ทางเป็นเครื่องไปสู่ที่ต้องการได้โดยตรง” (2) “ที่อันพวกคนเดินทางแสวงหา” (3) “ธรรมที่ยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน” (4) “ทางอันผู้ต้องการพระนิพพานดำเนินไป”
(2) มชฺชฺ (ธาตุ = สะอาด, หมดจด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ชฺชฺ ที่ (ม)-ชฺชฺ เป็น คฺค
: มชฺช + ณ = มชฺชณ > มชฺช > มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่สะอาดโดยพวกคนเดินทาง”
(3) ม (นิพพาน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่าง ม + คมฺ, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: ม + คฺ + คมฺ = มคฺคม > มคฺค + อ = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน”
(4) ม (กิเลเส มาเรติ = ฆ่ากิเลส) + ค (คจฺฉติ = ไป), ซ้อน คฺ
: ม + คฺ + ค = มคฺค แปลตามศัพท์ว่า “วิธีที่ไปฆ่ากิเลส”
“มคฺค” (ปุงลิงค์) ในบาลีหมายถึง –
(1) ถนน, ถนนใหญ่, ทาง, ทางเท้า (a road, high road, way, foot-path)
(2) ทางแห่งศีลธรรมและสัมมาชีพ, สัมมามรรคหรือทางที่ชอบธรรม (the road of moral & good living, the path of righteousness) คือมรรคในอริยสัจสี่
(3) ขั้นตอนของการบรรลุธรรม (Stage of righteousness) คือมรรคที่คู่กับผล
“มคฺค” ในบาลี เป็น “มารฺค” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มารฺค : (คำนาม) ถนน, ทาง; a road, a path or way.”
เป็นอันว่า คำนี้บาลีเป็น “มคฺค” สันสกฤตเป็น “มารฺค”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้เป็น “มรรค” (มัก) “มรรค-” (มัก-คะ-) (ขีดหลัง หมายถึงมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “มรรคา” (มัน-คา) บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(๑) ทาง.
(๒) เหตุ, ใช้คู่กับ ผล ว่า เป็นมรรคเป็นผล.
(๓) ในพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม คู่กับ ผล มี ๔ ชั้น คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค, ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ เป็น ๑ ในอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ-ความเห็นชอบ ๑ สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ ๑ สัมมาวาจา-การเจรจาชอบ ๑ สัมมากัมมันตะ-การงานชอบ ๑ สัมมาอาชีวะ-การเลี้ยงชีวิตชอบ ๑ สัมมาวายามะ-ความพยายามชอบ ๑ สัมมาสติ-ความระลึกชอบ ๑ สัมมาสมาธิ-ความตั้งใจชอบ ๑ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง. (ส. มารฺค; ป. มคฺค).
…………..
นอกจากสะกดเป็น “มรรค” และ “มรรคา” แล้ว ยังสะกดเป็น:
– “มารค” (มาก) เช่นในคำว่า ชลมารค สถลมารค
– “มัค-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) เช่น มัคคุเทศก์
– มัคคะ (มัก-คะ) ใช้เป็นคำศัพท์ ไม่นิยมใช้เขียนทั่วไป
– “มรคา” (มอ-ระ-คา) หมายถึง ทาง, ช่อง, ถนน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่รู้ทาง แต่ขยันเดิน หนึ่ง
: รู้ทาง แต่ไม่เดิน อีกหนึ่ง
บุคคลสองจำพวกนี้น่าสังเวชพอๆ กัน
#บาลีวันละคำ (2,731)
4-12-62