บาลีวันละคำ

อัพภักขาน (บาลีวันละคำ 3,431)

อัพภักขาน

การกล่าวตู่

ขอมอบไว้ “ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง

อ่านว่า อับ-พัก-ขาน

อัพภักขาน” เขียนแบบบาลีเป็น “อพฺภกฺขาน” อ่านว่า อับ-พัก-ขา-นะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน) + ขา (ธาตุ = กล่าว, บอก, พูด; ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปล อภิ เป็น อพฺภ, ซ้อน กฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อภิ > อพฺภ + กฺ + ขา)

หลักความรู้เกี่ยวกับ “อภิ” :

อภิ” (อะ-พิ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly) และบางกรณีหมายถึง เกิน หรือพ้นไปจากความเป็นจริงของเรื่องนั้นๆ

: อภิ > อพฺภ + กฺ + ขา = อพฺภกฺขา + ยุ > อน = อพฺภกฺขาน (อับ-พัก-ขา-นะ) 

บางสูตรบอกว่า “อพฺภกฺขาน” ประกอบด้วย อภิ > อพฺภ + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + กฺ + ขา + ยุ > อน = อพฺภากฺขาน รัสสะ อา เป็น ะ = อพฺภกฺขาน 

อพฺภกฺขาน” แปลตามศัพท์ว่า “การกล่าวให้ยิ่งขึ้น” คือเรื่องจริงมีแค่นี้ แต่เอามากล่าวให้ยิ่งขึ้น ส่วนที่ยิ่งขึ้นไปจึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง หรือคลาดเคลื่อนไปจากเรื่องจริง

อพฺภกฺขาน” หมายถึง การกล่าวตู่, การใส่ร้าย, คำปรามาส (accusation, slander, calumny)

หาความรู้ต่อไปอีก :

อพฺภกฺขาน” ถ้าเป็นกริยาอาขยาต รูปคำสามัญจะเป็น “อพฺภกฺขาติ” (อับ-พัก-ขา-ติ) และเป็น “อพฺภาจิกฺขติ” (อับ-พา-จิก-ขะ-ติ) อีกรูปหนึ่ง

อพฺภกฺขาติ” แปลว่า พูดโต้เพื่อกล่าวโทษ, พูดใส่ร้าย, หมิ่นประมาท (to speak against to accuse, slander)

อพฺภาจิกฺขติ” แปลว่า กล่าวตู่, ใส่ความ, หมิ่นประมาท (to accuse, slander, calumniate)

อภิปรายขยายความ :

อพฺภกฺขาน” เขียนแบบไทยเป็น “อัพภักขาน” อ่านแบบไทยว่า อับ-พัก-ขาน เป็นคำที่ยังไม่มีใช้ในภาษาไทย 

แต่มีคำที่มีใช้ในภาษาไทยพอจะไปเข้ากลุ่มเป็นเพื่อนกันได้อย่างน้อย 2 คำ คือ “ขาน” และ “อาขยาน” (อา-ขะ-หฺยาน, อา-ขะ-ยาน)

ขาน” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ขาน ๑ : (คำกริยา) ออกเสียงพูดหรือตอบเป็นต้น เช่น ขานยาม ขานรับ.”

ถ้าไม่เกรงใจจะถูกหาว่า “กล่าวตู่” อาจลากเข้าวัดหรือจับบวชได้อย่างแนบเนียนว่า “ขาน” คำนี้ตัดมาจากบาลีว่า “อกฺขาน” ดังที่พจนานุกรมฯ เอ่ยอ้างไว้ในบทนิยามคำว่า “อาขยาน” ดังนี้ –

อาขยาน : (คำนาม) บทท่องจํา; การเล่า, การบอก; การสวด; เรื่อง, นิทาน. (ส.; ป. อกฺขาน).”

นั่นคือ “อาขยาน” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อกฺขาน” (อัก-ขา-นะ)

และ “อกฺขาน” นี่เองพูดตัดคำและออกเสียงแบบไทยเป็น “ขาน” ที่ใช้ในภาษาไทย

โปรดทราบว่านี่เป็นการสันนิษฐานเล่นๆ ไม่ใช่หลักวิชา และไม่พึงนำไปอ้างอิงเป็นหลักฐาน

เป็นอันว่า ในภาษาไทยมี (1) ขาน (2) อาขยาน หากจะเพิ่ม (3) อัพภักขาน เข้าไปอีกคำหนึ่งก็จะทำให้ภาษาไทยเราเป็นอย่างที่ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านพูดว่า “รุ่มรวยด้วยถ้อยคำ” 

อนึ่ง อาจจะช่วยลดอารมณ์รังเกียจคำบาลีตรงๆ ในหมู่ชาวพุทธ (พยานคือคำบ่นที่ว่า พระเอาคำบาลีมาเทศน์ทำไม ฟังไม่รู้เรื่อง) ลงไปได้บ้าง เนื่องจากเป็นการเอาคำบาลีมาแต่งตัวเป็นไทยๆ และพยายามทำให้เป็นคำไทย 

และเมื่อลดอารมณ์รังเกียจคำบาลีตรงๆ ได้บ้างแล้ว ก็อาจช่วยให้คุ้นกับคำบาลีมากขึ้น และคลายความรังเกียจลงไป เป็นจุดเริ่มต้นที่จะชวนกันหันมารักคำบาลีตรงๆ กันมากขึ้น

สรุป :

อพฺภกฺขาน” ที่ขอนำมาใช้ในภาษาไทยเป็น “อัพภักขาน” มีความหมายว่า การกล่าวตู่ หรือพูดไม่ตรงกับเรื่องจริง 

คำที่เรามักได้ยินเมื่อพูดถึงหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็คือคำว่า “กล่าวตู่พระพุทธพจน์” 

กล่าวตู่” ก็ใช้คำว่า “อพฺภกฺขาน” หรือ “อพฺภกฺขาติ” หรือ “อพฺภาจิกฺขติ” ดังที่แสดงไว้ข้างต้น หมายถึง พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้อย่างหนึ่ง แต่มีผู้เอามาพูดหรือเอามาอธิบายไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกับที่ตรัสไว้

ยกตัวอย่างการให้ความหมายคำบาลี อาจช่วยให้เข้าใจได้ง่าย เช่น – 

๑ คำว่า “อุโปสถ” (อุ-โป-สะ-ถะ) ที่เอามาใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ” กรณีที่หมายถึงศีลอุโบสถ แปลว่า “การเข้าจำ” หมายถึงการปลีกตัวออกจากชีวิตประจำวันปกติ ถือข้อปฏิบัติบางประการเป็นการขัดเกลาตัวเอง (observance) มีเจ้าสำนักแห่งหนึ่งแปลคำนี้ว่า “ข้อปฏิบัติที่ใกล้ต่อความเป็นยา” คือท่านแยกคำเป็น อุป = ใกล้ + โอสถ = ยา

อุป + โอสถ = อุโปสถ > อุโบสถ > ศีลที่ใกล้ต่อความเป็นยา คือข้อปฏิบัติที่เปรียบเหมือนยารักษาโรค

๒ คำว่า “สกิเทว” (สะ-กิ-เท-วะ) แปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” เป็นคำที่เกิดจากคำว่า สกึ (สะ-กิง = ครั้งเดียว) + เอว (เอ-วะ = เท่านั้น) แปลงนิคหิตที่ –กึ เป็น : สกึ > สกิท 

+ เอว อ่าง เป็นสระ ไม่มีรูป จึงเท่ากับ : สกิ + = สกิเทว 

เจ้าสำนักแห่งหนึ่งแปลคำว่า “สกิเทว” ว่า “เทวดาคราวเดียว” (หมายถึง เกิดเป็นเทวดาอีกครั้งเดียว) ทั้งนี้เพราะท่านเข้าใจว่า “-เทว” ในคำว่า “สกิเทว” หมายถึง “เทวดา

๓ มงคลสูตรข้อที่ว่า “ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา” ซึ่งแปลว่า “การคบหาสมาคมกับบัณฑิต” คำว่า “เสวนา” (เส-วะ-นา) แปลว่า การคบหาสมาคม (following, associating with; cohabiting) 

ผู้รู้ท่านหนึ่งยืนยันว่า “เสวนา” ในมงคลข้อนี้ หมายถึง “การพูดจากัน” เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการคบหาสมาคม โดยท่านเข้าใจว่า “เสวนา” ในบาลีมีความหมายอย่างเดียวกับ “เสวนา” ในภาษาไทย คือหมายถึงการพบปะเสวนากัน หรือการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

การให้ความหมายคำบาลีในลักษณะที่ยกตัวอย่างมานี้คือรูปแบบหนึ่งของ “อัพภักขาน” คือความหมายจริงๆ เป็นอย่างหนึ่ง แต่เอามาพูดเอามาอธิบายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะเกิดจากความไม่รู้ ความเข้าใจผิด หรือยึดในความเข้าใจของตนว่าถูก โดยไม่ได้ตรวจสอบหลักภาษาหรือข้อเท็จจริง

อัพภักขาน” ที่เรามักพบเห็นกันทั่วไปในสังคมก็คือ การกล่าวโจมตีใส่ร้ายป้ายสีตัวบุคคล โดยมีเจตนาแฝงเร้นต่างๆ 

อัพภักขาน” ไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดๆ เป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง ทั้งหลีกเลี่ยงที่จะกระทำ และหลีกเลี่ยงที่จะหลงเชื่อ

…………..

หมายเหตุ : ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ถ้ามีข้อผิดพลาด ขอญาติมิตรจงอาศัยความกรุณาช่วยทักท้วงเตือนติง เมื่อผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นข้อผิดพลาดนั้นๆ จักได้แก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อมิให้กลายเป็น “อัพภักขาน” ไปเสียเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ควรรู้ให้ถูกต้องทุกเรื่องที่พูด

: แต่ไม่จำเป็นต้องพูดทุกเรื่องที่รู้

#บาลีวันละคำ (3,431)

3-11-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *