สันติปาลาราม (บาลีวันละคำ 1,931)
สันติปาลาราม
วัดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเมืองไทย
อ่านว่า สัน-ติ-ปา-ลา-ราม
แยกศัพท์เป็น สันติ + ปาล + อาราม
(๑) “สันติ”
บาลีเขียน “สนฺติ” (สัน-ติ) รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ติ ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (สมฺ > สน)
: สมฺ + ติ = สมฺติ > สนฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่กิเลสสงบ” หมายถึง ความราบรื่น, ความสงบ (tranquillity, peace)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สันติ : (คำนาม) ความสงบ เช่น อยู่ร่วมกันโดยสันติ. (ป.; ส. ศานฺติ).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“ศานฺติ : (คำนาม) ความสงบ; บรมสุข; tranquillity; felicity.”
ในทางธรรม สนฺติ หมายถึง นิพพาน
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “สันติ” ไว้ว่า –
“สันติ : ความสงบ, ความระงับดับหายหมดไปแห่งความพลุ่งพล่านเร่าร้อนกระวนกระวาย, ภาวะเรียบรื่นไร้ความสับสนวุ่นวาย, ความระงับดับไปแห่งกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อนว้าวุ่นขุ่นมัว, เป็นไวพจน์หนึ่งของ นิพพาน.”
(๒) “ปาล”
บาลีอ่านว่า ปา-ละ รากศัพท์มาจาก ปาลฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + อ ปัจจัย
: ปาลฺ + อ = ปาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” หมายถึง ยาม, ผู้รักษา, ผู้คุ้มครอง, ผู้ป้องกัน (a guard, keeper, guardian, protector)
“ปาล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บาล” (บาน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บาล : (คำกริยา) เลี้ยง, รักษา, คุ้มครอง, ปกครอง, เช่น บาลเมือง, โดยมากใช้เป็นคำหลังสมาส เช่น โลกบาล รัฐบาล นครบาล โคบาล นิรยบาล. (ป., ส. ปาล).”
(๓) “อาราม”
บาลีอ่านว่า อา-รา-มะ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป, ยิ่ง) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, “ทีฆะต้นธาตุ” : รมฺ > ราม)
: อา + รมฺ = อารมฺ + ณ = อารมณ > อารม > อาราม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มายินดี”
“อาราม” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) คำนาม : สถานที่อันน่ารื่นรมย์, สวน, อุทยาน (a pleasure-ground, park, garden)
(2) คำนาม : ความยินดี, ความชอบใจ, ความรื่นรมย์ (pleasure, fondness of, delight)
(3) คำคุณศัพท์ : ชอบใจ, เพลิดเพลิน, สบอารมณ์ (delighting in, enjoying, finding pleasure in)
นักบวชสมัยพุทธกาลพอใจที่จะพักอาศัยอยู่ตามป่าไม้ซึ่งปกติเป็นที่ร่มรื่น อันเป็นความหมายของ “อาราม” ดังนั้น คำว่า “อาราม” จึงหมายถึงสถานที่พักอาศัยของนักบวชด้วย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อาราม ๑ : (คำนาม) วัด; สวนเป็นที่น่ารื่นรมย์. (ป., ส.).
(2) อาราม ๒ : (คำนาม) ความยินดี, ความรื่นรมย์, ความเพลิดเพลิน.
ในที่นี้ “อาราม” หมายถึง วัด
การประสมคำ :
๑ สันติ + ปาล = สันติปาล แปลว่า “ผู้รักษาความสงบ”
“สันติปาล” เป็นคำที่แปลงมาจากคำว่า “สันติบาล” (สัน-ติ-บาน) อันเป็นชื่อตำรวจหน่วยหนึ่งของเมืองไทย
๒ สันติปาล + อาราม = สันติปาลาราม แปลโดยประสงค์ว่า “วัดสันติบาล”
…………..
ขยายความ :
เมื่อ พ.ศ. 2503 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม ถูกถอดจากสมณศักดิ์เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง และเมื่อ พ.ศ. 2505 ได้ถูกสั่งให้สละสมณเพศและถูกทางราชการฟ้องร้องด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ตำรวจได้นำตัวไปควบคุมไว้ที่กองตำรวจสันติบาลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2505 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2509 ศาลทหารจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง
ตลอดเวลาดังกล่าว ท่านยังปฏิญญาว่าท่านเป็นภิกษุ ระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ที่กองตำรวจสันติบาลนั่นเองได้มีคำกล่าวกันว่า ท่านจำพรรษาอยู่ที่ “สันติปาลาราม” อันเป็นการเรียกล้อคำว่า “สันติบาล” ของตำรวจ
…………..
กรณีนี้ได้คติว่า ในพระพุทธศาสนานั้นเมื่อไม่สามารถจะหาวัดเป็นที่อยู่หรือเป็นที่ปฏิบัติกิจทางพระศาสนาได้ หากตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง ทุกหนทุกแห่ง-แม้แต่ในคุกตะราง-ย่อมสามารถเป็น “อาราม” หรือเป็นวัดได้ทั้งสิ้น
นั่นเท่ากับว่า เราได้สร้างวัดไว้แล้วในหัวใจเราเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: โปรดเตรียมสร้างวัดไว้ให้ทั่วทุกหัวใจ
: เพื่อรองรับวันที่แผ่นดินไทยจะไม่มีวัด
22-9-60