บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความไม่รู้ทำให้เพี้ยน

ความไม่รู้ทำให้เพี้ยน

———————-

ถ้าเอ่ยถึง “เสด็จเตี่ย” หรือ “กรมหลวงชุมพร” คนเป็นอันมากจะรู้จัก

“เสด็จเตี่ย” หรือ “กรมหลวงชุมพร” นั้น มีพระนามที่กองทัพเรือเรียกขานอย่างเป็นทางการว่า “พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์”

และกองทัพเรือถวายพระสมัญญานามว่า “องค์บิดาของทหารเรือไทย” (โปรดคงศัพท์คงคำตามนี้ อย่าแผลงเพี้ยนเป็นอย่างอื่น เช่น องค์พระบิดาของทหารเรือไทย องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย เป็นต้น คำที่ถูกต้องมีแบบเดียว คือ “องค์-บิดา-ของ-ทหารเรือ-ไทย”)

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้จะว่าเฉพาะเรื่องคำบูชาเสด็จเตี่ย และว่าเฉพาะคำบูชาสำนวนที่ปรากฏอยู่ในกองทัพเรือเท่านั้น

คำบูชาเสด็จเตี่ยสำนวนที่ปรากฏอยู่ในกองทัพเรือมีดังนี้ 

……………………………..

โอม ชุมพร จุติ 

อิทธิกะระณัง 

สุโข นะโม พุทธายะ 

นะมะพะธะ 

จะภะกะสะ 

มะอะอุ 

พุธะสังมิ

……………………………..

ในที่นี้จะไม่พูดถึงกรณี-ข้อความเหล่านี้มาเป็นคำบูชาเสด็จเตี่ยได้ด้วยเหตุผลอะไร หรือเกี่ยวอะไรกับเสด็จเตี่ย 

จะพูดเฉพาะคำบูชาเพียงคำเดียว คือ “พุธะสังมิ” เท่านั้น

——————

พุธะสังมิ” ในที่ทั่วไปมักสะกดเป็น “พุทธะสังมิ” (พุท– มี ท ทหาร) ในที่นี้สะกดเป็น พุ– ไม่มี ท ทหาร

พุธะสังมิ” (พุ– ไม่มี ท ทหาร) มีที่มาดังนี้ –

พุ” ย่อมาจาก “พุทธัง

ธะ” ย่อมาจาก “ธัมมัง

สัง” ย่อมาจาก “สังฆัง

มิ” ย่อมาจาก “คัจฉามิ

คำเต็มๆ – 

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ 

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ 

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ 

แปลว่า “ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง”

ถอดออกมาเป็นหัวใจว่า “พุธะสังมิ” 

เรียกกันว่า “หัวใจไตรสรณคมน์” 

——————

ทำไมจึงเป็น พุ– ไม่มี ท ทหาร?

คำตอบมีดังนี้ –

ธะ” ย่อมาจาก “ธัมมัง” ก็ไม่ได้ย่อเป็น “ธัม” แต่เป็น “ธะ” คือไม่ได้เอา – ตัวสะกดติดมาด้วย

“พุทธัง” จึงควรย่อเป็น “พุ” ไม่ต้องเอาตัวสะกด คือ ติดมาด้วยเช่นกัน

ส่วน “สัง” ย่อมาจาก “สังฆัง” ถ้าใช้หลักเดียวกันก็น่าจะย่อเป็น “สะ” คือไม่ต้องเอา – ตัวสะกดติดมาด้วย แต่ทำไมจึงย่อเป็น “สัง” 

เรื่องนี้เป็นเหตุผลทางอักขรวิธี กล่าวคือ คำว่า “สังฆัง” เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺฆํ” รูปคำเดิมคือ “สงฺฆ” (สัง-คะ) 

พยางค์แรกคือ “สงฺ” นั้น รูปคำเดิมแท้คือ “สํ” (อ่านว่า สัง) เป็นคำจำพวกอุปสรรค แปลว่า “พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี” ใช้ประกอบหน้าคำอื่น 

คัมภีร์รุ่นเก่าสะกดคำนี้เป็น “สํฆ” คือ สํโฆ สํฆํ เป็นต้น ไม่ได้สะกดเป็น สงฺโฆ สงฺฆํ อย่างที่เห็นในเวลานี้ 

ที่เป็น สงฺฆ สงฺโฆ สงฺฆํ ก็เพราะแปลงนิคหิต คือ อํ (วงกลมข้างบน ส) เป็น งฺ 

สํฆ สํโฆ สํฆํ จึงเป็น สงฺฆ สงฺโฆ สงฺฆํ

ผู้ที่ถอดหัวใจท่านรู้อักขรวิธีดังว่านี้ “สังฆัง” (สงฺฆํ) ท่านจึงไม่ถอดเป็น “สะ” เพราะรูปเดิม “สัง-” มาจาก “สํ” (สัง) ไม่ใช่มาจาก “” (สะ)

สรุปว่า –

“พุทธัง” รูปคำเดิมคือ พุ– ส่วน ทธ เป็นตัวสะกดที่ใส่เข้ามาทีหลัง ท่านจึงย่อเป็น “พุ” ไม่ใช่ “พุท”

“ธัมมัง” รูปคำเดิมคือ – ส่วน มม เป็นตัวสะกดที่ใส่เข้ามาทีหลัง ท่านจึงย่อเป็น “ธะ” ไม่ใช่ “ธัม” 

“สังฆัง” รูปคำเดิมคือ สํ– (สัง) แม้จะแปลงนิคหิตเป็น งฺ (สํ > สงฺ > สัง) ก็ไม่ทำให้ สํ กลายเป็น (สะ) ไปได้ ท่านจึงย่อเป็น “สัง” คงรูปเดิม ไม่ใช่ “สะ” 

พุธะสังมิ” (พุ- ไม่มี ท) จึงเป็นคำที่สะกดถูกต้อง ด้วยประการฉะนี้

ถ้าไปเห็นที่ไหนสะกดเป็น “พุทธะสังมิ” (พุท- มี ท) โปรดทราบว่าคลาดเคลื่อนจากหลักการตามที่อธิบายมา

——————

จะกล่าวฝ่ายท่านจำพวกหนึ่ง ที่เชื่อว่าคำนี้สะกดเป็น “พุทธะสังมิ” (พุท- มี ท) เมื่อเห็นคำว่า “พุทธะ-” ก็เข้าใจว่าหมายถึงพระพุทธเจ้า ครั้นมาเห็นคำบูชานี้มีแต่ “พุทธะสังมิ” ก็จึงคิดต่อไปตามที่เข้าใจกันทั่วไป นั่นคือ พระรัตนตรัยประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะมีแต่พระพุทธเจ้าอย่างเดียวย่อมไม่สมบูรณ์

ว่าแล้วก็จัดแจงเติมลงไป เป็น “พุทธะสังมิ ธัมมะสังมิ สังฆะสังมิ” ดังที่หลายท่านที่ชอบศึกษาทางนี้คงจะได้เคยเห็นกันมาบ้างแล้วในที่ต่างๆ

ทีนี้ก็เกิดปัญหา จะต้องแต่งคำอธิบายกันต่อไปอีกว่า “-สังมิ” ที่อยู่ท้ายแต่ละวรรคนั่นไปยังไงมายังไง

ส่วนใครที่ไม่สนใจเรียนรู้ เห็นเพียงว่าครบพระรัตนตรัยก็พอใจแล้ว คำไหนจะไปยังไงมายังไงก็ช่างปะไร ก็จะพากันถือดุ่ยไปตามนี้ กลายเป็นคาถาขลังไปอีกคำหนึ่ง

เห็นหรือไม่ว่า ความไม่รู้และไม่ศึกษาเรียนรู้ทำให้เกิดอะไรขึ้น

เมืองไทยมีคนเรียนจบบาลีเยอะ

แต่ไม่ทราบว่าหายไปไหนกันหมด

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๘:๑๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *