บาลีวันละคำ

ภาษา (บาลีวันละคำ 461)

ภาษา

บาลีเป็น “ภาสา” (ส เสือ) อ่านว่า พา-สา

สันสกฤตเป็น “ภาษา” (ษ ฤๅษี) เราเขียนตามสันสกฤต

ภาสา” รากศัพท์มาจาก ภาส ธาตุ หรือ ภา ธาตุ + ปัจจัย แปลตามศัพท์ว่า “การพูด” “วาจาอันคนพูด” (เล็งเฉพาะเสียงที่เปล่งออก) ความหมายที่เข้าใจกันคือ คำพูด, ถ้อยคำ, วาจา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “ภาษา” ไว้ดังนี้ –

(1) ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม

(2) เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ

(3) (คำเก่า) คนหรือชาติที่พูดภาษานั้น ๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา (พงศ. ร. ๓)

(4) (ศัพท์คอมพิวเตอร์) กลุ่มของชุดอักขระ สัญนิยม และกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษาซี ภาษาจาวา

(5) โดยปริยายหมายความว่าสาระ, เรื่องราว, เนื้อความที่เข้าใจกัน, เช่น ตกใจจนพูดไม่เป็นภาษา เขียนไม่เป็นภาษา ทำงานไม่เป็นภาษา

ตามรากศัพท์ “ภาสา-ภาษา” มีความหมายว่า “ส่องสว่าง” หรือ “ทำให้แจ้ง” ก็ได้ คำกริยาว่า “ภาสติ” (พา-สะ-ติ) “ปภาสติ” (ปะ-พา-สะ-ติ) แปลว่า บอก, ประกาศ, พูด

คำนามเป็น “ปภาส” (ปะ-พา-สะ) หมายถึงส่องแสง, ความสวยสดงดงาม, ความสวยงาม ได้ด้วย

ในภาษาไทยมีคำว่า “ประภาษ” แปลว่า ตรัส, บอก, พูด

ตามรากศัพท์ของคำว่า “ภาษา” ทำให้ได้คติว่า –

1. ภาษา ควรสามารถทำให้แจ้ง คือบอกให้รู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไรอย่างไร

2. และควรทำให้แจ้งอย่างสวยงามด้วย

ปัญหาการใช้ถ้อยคำภาษาที่มักพบในเวลานี้ คือ –

1. ไม่สามารถทำให้แจ้งได้ เช่น คำนำหน้าชื่อว่า “นางสาว” ไม่แจ้งว่า (ก) เป็น “นางสาว” ประเภทกำลังมีสามีอยู่ (ข) เป็น “นางสาว” ประเภทเคยมีสามีมาแล้ว แต่ขณะนี้ไม่มี หรือว่า (ค) เป็น “นางสาว” ประเภทยังไม่เคยมีสามีมาก่อนเลย

2. ทำให้แจ้งได้ก็จริง แต่ไม่สวยงาม

: รู้รากของ “ภาษา” แล้ว พึงพยายามใช้ภาษาที่ทำให้แจ้งได้ด้วย สวยงามด้วย โดยทั่วกัน เทอญ

19-8-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย