อภิธัมมัตถวิภาวินี (บาลีวันละคำ 3,116)
อภิธัมมัตถวิภาวินี
คัมภีร์ตัดสินเปรียญธรรม 9 ประโยค
อ่านว่า อะ-พิ-ทำ-มัด-ถะ-วิ-ภา-วิ-นี
ประกอบด้วยคำว่า อภิธัมมัตถ + วิภาวินี
(๑) “อภิธัมมัตถ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อภิธมฺมตฺถ” อ่านว่า อะ-พิ-ทำ-มัด-ถะ แยกศัพท์เป็น อภิธมฺม + อตฺถ
(ก) “อภิธมฺม” (อะ-พิ-ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก อภิ + ธมฺม
(1) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
(2) “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในที่นี้สะกดตามบาลีเป็น “ธัมม” หมายถึง คําสั่งสอนในศาสนา
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ “ธรรมคาถา – ธรรมกถา” : บาลีวันละคำ (1,605) 26-10-59)
อภิ + ธมฺม = อภิธมฺม คำนี้เขียนแบบไทยเป็น “อภิธรรม” อ่านว่า อะ-พิ-ทำ ในที่นี้สะกดตามบาลีเป็น “อภิธัมม”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อภิธรรม” ไว้ดังนี้ –
…………..
อภิธรรม : ธรรมอันยิ่ง ทั้งยิ่งเกิน (อภิ-อติเรก) คือมากกว่าธรรมอย่างปกติ และยิ่งพิเศษ (อภิวิเสส) คือเหนือกว่าธรรมอย่างปกติ, หลักและคำอธิบายธรรมที่เป็นเนื้อหาสาระแท้ๆ ล้วนๆ ซึ่งจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบและเป็นลำดับ จนจบความอย่างบริบูรณ์ โดยไม่กล่าวถึง ไม่อ้างอิง และไม่ขึ้นต่อบุคคล ชุมชน หรือเหตุการณ์ อันแสดงโดยเว้นบัญญัติโวหาร มุ่งตรงต่อสภาวธรรม ที่ต่อมานิยมจัดเรียกเป็นปรมัตถธรรม 4 คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน, เมื่อพูดว่า “อภิธรรม” บางทีหมายถึงพระอภิธรรมปิฎก บางทีหมายถึงคำสอนในพระอภิธรรมปิฎกนั้น ตามที่ได้นำมาอธิบายและเล่าเรียนกันสืบมา เฉพาะอย่างยิ่ง ตามแนวที่ประมวลแสดงไว้ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ, บางที เพื่อให้ชัดว่าหมายถึงพระอภิธรรมปิฎก ก็พูดว่า “อภิธรรมเจ็ดคัมภีร์”.
…………..
(ข) “อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง เป็นไป; พินาศ) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ” (4) “ภาวะที่พินาศ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสฺถ > อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อตฺถฺ + อ = อตฺถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ; ความดี, พร, สวัสดิภาพ; ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา, ประโยชน์ (need, want, use)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import [of a word], denotation, signification)
(4) ข้อความ, สิ่งของ (matter, thing)
(5) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
อภิธมฺม + อตฺถ = อภิธมฺมตฺถ (อะ-พิ-ทำ-มัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “เนื้อความแห่งธรรมอันยิ่ง” หมายถึง ความหมายแห่งข้อธรรมต่างๆ ที่ประมวลไว้ในพระอภิธรรมปิฎก
(๒) “วิภาวินี”
รูปคำเดิมมาจาก วิภาวน + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
(ก) “วิภาวน” อ่านว่า วิ-พา-วะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อาว (อา-วะ) (ภู > โภ > ภาว)
: วิ + ภู = วิภู + ยุ > อน = วิภูน > วิโภน > วิภาวน แปลตามศัพท์ว่า “คุณชาตที่ยังกุศลให้มีขึ้น” หมายถึง การทำให้เกิด, การอาศัยบางสิ่ง, การพร่ำคิดถึง (อะไรบางอย่าง), การเอาใจใส่, การทำให้พัฒนาโดยความคิดหรือวิปัสสนา, การปลูกฝังด้วยจิตใจ, การเพาะใจ (producing, dwelling on something, putting one’s thoughts to, application, developing by means of thought or meditation, cultivation by mind, culture)
(ข) วิภาวน + อินี = วิภาวินี แปลความว่า “(ฎีกา) เป็นเครื่องยัง–ให้จำเริญขึ้น”
อภิธมฺมตฺถ + วิภาวินี = อภิธมฺมตฺถวิภาวินี > อภิธัมมัตถวิภาวินี แปลว่า “(ฎีกา) เป็นเครื่องยังเนื้อความแห่งธรรมอันยิ่งให้จำเริญขึ้น” หมายถึง คัมภีร์ฎีกาเล่มนี้เป็นเครื่องมือช่วยให้เข้าใจความหมายแห่งข้อธรรมในพระอภิธรรมปิฎกได้กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ว่า –
…………..
“อภิธัมมัตถวิภาวินี : ชื่อคัมภีร์ฎีกา อธิบายความในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ พระสุมังคละผู้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์สารีบุตร ซึ่งเป็นปราชญ์ในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙) รจนาขึ้นในลังกาทวีป.”
…………..
“อภิธัมมัตถวิภาวินี” พิมพ์เป็นบาลีอักษรไทย 1 เล่ม ใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย (แปลบาลีเป็นไทย) ชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค ตามหลักสูตรการศึกษาบาลีของคณะสงฆ์ไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเลือกฟังแต่เรื่องที่เรารู้
: ในที่สุดเราจะไม่รู้เรื่องที่เราฟัง
#บาลีวันละคำ (3,116)
23-12-63