บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำบูชาที่คลาดเคลื่อน

คำบูชาที่คลาดเคลื่อน

———————-

ข้อความในภาพประกอบเรื่องนี้คัดลอกออกมาเป็นดังนี้ –

…………………………

พระคาถาบูชา พระบรมสารีริกธาตุ ฯ

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต

สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อะหัง วันทามิ ธาตุโย

อะหัง วันทามิ สัพโส

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เอวัง ธาตุโย จัตตารี สะ

สะ มาทันต เกสา โลมา นะ ขาปิจะ อะหัง วันทามิ ธาตุโย

…………………………

ชี้แจงถ้อยคำที่คลาดเคลื่อน

(๑) นะโมตัสสะ

ต้องเขียนแยกเป็น ๒ คำ คือ “นะโม” คำหนึ่ง “ตัสสะ” อีกคำหนึ่ง

= นะโม ตัสสะ แปลว่า “ขอนอบน้อม แด่ … พระองค์นั้น”

(๒) สัมมา สัมพุทธัสสะ 

“สัมมา” ต้องเขียนติดกับ “สัมพุทธัสสะ” เพราะเป็นคำเดียวกัน

= สัมมาสัมพุทธัสสะ แปลว่า “พระผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง” > พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

(๓) สัพโส

คำนี้บาลีว่า “สพฺพโส” อ่านว่า สับ-พะ-โส

เขียนแบบคำอ่านเป็น “สัพพะโส” 

ไม่ใช่ “สัพโส”

= สัพพะโส แปลว่า “โดยประการทั้งปวง”

(๔) จัตตารี สะ

คำนี้ต้องเขียนติดกันเป็น “จัตตารีสะ” เป็นศัพท์สังขยา (คำนับจำนวน) แปลว่า ๔๐ 

อนึ่ง โปรดทราบว่า คำนี้ในคัมภีร์โดยทั่วไปนิยมสะกดเป็น “จตฺตาฬีส” คือ -ฬี- ฬ จุฬา (บางทีก็เป็น -ลี- ล ลิง) มากกว่าที่เป็น จตฺตารีส (-รี- ร เรือ) 

แต่ที่ผิดนั้นคือ ไปแยก “สะ” ออกไปเป็นอีกคำหนึ่ง 

คำนี้ “สะ” ต้องอยู่ติดกัน

= จัตตาฬีสะ (จัตตารีสะ) แปลว่า “๔๐”

(๕) สะ มาทันต

คำนี้ “สะ” ต้องเขียนติดกับ “มา” เป็น “สะมา”

“สะมา” กับ “ทันต” ต้องแยกเป็นคนละคำ

และ “ทันต” นั้น ต้องเป็น “ทันตา” (เขียนแบบบาลี: ทนฺตา)

และต้องเอาคำว่า “จัตตาฬีสะ” มาต่อเป็นคำเดียวกับ “สะมา”

= จัตตาฬีสะสะมา ทันตา

แปลว่า “พระทนต์ ๔๐ ซี่ถ้วน” หรือ “พระทนต์เรียบเสมอกันทั้ง ๔๐ ซี่”

(๖) นะ ขาปิจะ

“นะ” ต้องเขียนติดกับ “ขา” ศัพท์เดิมคือ “นะขา” (เขียนแบบบาลี: นขา) ที่แปลว่า เล็บ

“นะขา” สนธิกับ “อปิจะ” เป็น “นะขาปิจะ”

= นะขาปิจะ แปลว่า “แม้เล็บทั้งหลายอีกเล่า”

เมื่อชำระสะสางแล้ว คำบูชาตามภาพควรจะเป็นดังนี้ – 

…………………………

พระคาถาบูชาพระบรมสารีริกธาตุ 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต

สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

อะหัง วันทามิ ธาตุโย

อะหัง วันทามิ สัพพะโส

พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เอวัง ธาตุโย 

จัตตาฬีสะสะมา ทันตา เกสา โลมา นะขาปิจะ 

อะหัง วันทามิ ธาตุโย

…………………………

แปลเก็บความตามประสงค์เป็นดังนี้ –

(นะโม ไม่ต้องแปล ละไว้ฐานเข้าใจ)

…………………………

ข้าพเจ้าขอไหว้พระบรมสารีริกธาตุ

ข้าพเจ้าขอไหว้ครบถ้วนทุกสถาน

ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระบรมสารีริกธาตุด้วยประการฉะนี้

ข้าพเจ้าขอไหว้พระบรมสารีริกธาตุ

คือพระทนต์ ๔๐ ซี่ถ้วน พระเกศา พระโลมา ทั้งพระนขาอีกด้วย

…………………………

ต่อไปนี่เป็นคำบ่น

วัดต่างๆ เป็นแบบนี้กันมาก คือมีคนไปทำคำบูชามาถวายโดยที่ไม่ได้ปรึกษาหารือท่านผู้รู้ว่าถ้อยคำในคำบูชาที่เอาไปให้ผู้รับจ้างดำเนินการนั้นผิดถูกประการใด

เราไม่ได้ขาดแคลนผู้รู้และผู้มีศรัทธา

แต่เราขาดแคลนผู้บริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ครั้งหนึ่งผมเคยทักท้วงผู้ที่ทำคำบูชาที่เขียนผิดๆ มาถวาย เขาตอบเด็ดขาดมาก 

คือตอบว่า “แบบนี้ก็ได้บุญเหมือนกัน”

จึงระลึกได้ว่า ไม่มีอะไรแก้ยากเท่ากับความดื้อรั้นของคน 

………………

ผมบันทึกภาพนี้ไว้เมื่อ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๑ จากโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง เก็บไว้ด้วยความคิดว่า-วันหนึ่งคงเอามาใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง

๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ นี่ก็ครบ ๓ ปี

เห็นคำบาลีผิดพลาดคลาดเคลื่อนที่ไหน ผมชอบเก็บ ไม่มีความประสงค์จะจับผิดอะไรใคร แต่มีความประสงค์จะเก็บไว้ศึกษา 

อย่างคำว่า “จัตตาฬีสะสะมา ทันตา” เมื่อเอาเรื่องนี้มาเขียน ผมก็ต้องไปเปิดพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาเพื่อจะดูว่ามีข้อความเช่นนี้หรือเปล่า

ปรากฏว่ามี 

นี่คือความรู้ที่ผมได้รับจากการศึกษา

นักเรียนบาลีส่วนมากไม่มีอัธยาศัยแบบนี้ 

ดูผ่าน 

ไม่อ่านไม่ค้น 

ไม่สนถูกผิด 

ไม่ใช่กิจของกู!!

ผมเอามาเขียนนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ปัญหาเรื่องเขียนคำบาลีผิดๆ ให้หมดไปได้ 

แต่ทำด้วยความหวังว่า หากมีคนสนใจ ฉุกคิดอะไรได้บ้าง แม้เพียงคนเดียว ก็คุ้ม-คุ้มค่าข้าวสุกวัดที่อาศัยเลี้ยงชีพจนพอมีกำลังเรียนบาลีมาจนถึงวันนี้

เขียนใช้หนี้พระศาสนาตามประสายากขอรับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ มกราคม ๒๕๖๔

๑๘:๓๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *