อัตชีวประวัติ (บาลีวันละคำ 3,152)
อัตชีวประวัติ
ใครจะกล้าเขียนความไม่ซื่อสัตย์ของตัวเองบ้าง
อ่านว่า อัด-ตะ-ชี-วะ-ปฺระ-หฺวัด
ประกอบด้วยคำว่า อัต + ชีว + ประวัติ
(๑) “อัต”
รูปคำเดิมในบาลีเป็น “อตฺต” อ่านว่า อัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย
: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
(๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)
(๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)
(๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)
(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต
: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
(๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)
(๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันกินเอา)
(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ) และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ
: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)
“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เขียนแบบไทยเป็น “อัตตา”
ในที่นี้คงเป็น “อตฺต” เขียนแบบไทยเป็น “อัตต” ตัดตัวสะกดออกตามหลักนิยมของไทย จึงเป็น “อัต” แต่ยังคงอ่านว่า อัด-ตะ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ในรูป “อัต-” ขีดหลังคำหมายความว่า สะกดเช่นนี้เมื่อมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย
พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“อัต– : (คำนาม) ตน, ตัวเอง. (ป. อตฺต; ส. อาตฺมนฺ).”
(๒) “ชีว”
บาลีอ่านว่า ชี-วะ รากศัพท์มาจาก ชีวฺ (ธาตุ = เป็นอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย
: ชีวฺ + อ = ชีว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เป็นอยู่ได้” หมายถึง ชีวิต (ของแต่ละคน), เวลาที่ชีวิตดำรงอยู่, ช่วงของชีวิต, การเป็นอยู่; การดำรงชีพ ([individual] life, lifetime, span of life; living, livelihood)
(๓) “ประวัติ”
บาลีเป็น “ปวตฺติ” อ่านว่า ปะ-วัด-ติ (โปรดสังเกตว่า บาลีอ่านว่า -วัด- ไม่ใช่ -หฺวัด-) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + ติ ปัจจัย
: ป + วตฺ = ปวตฺ + ติ = ปวตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นไปทั่วไป” หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้น, เหตุการณ์, ข่าว, ความเป็นไป (happening, incident, news)
“ปวตฺติ” ใช้ในภาษาไทยว่า “ประวัติ” อ่านว่า ปฺระ-หฺวัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประวัติ, ประวัติ– : (คำนาม) เรื่องราวว่าด้วยความเป็นไปของคน สถานที่ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ประวัติศรีปราชญ์ ประวัติวัดมหาธาตุ. (ป. ปวตฺติ).”
การประสมคำ :
(๑) ชีว + ประวัติ = ชีวประวัติ (ชี-วะ-ปฺระ-หฺวัด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชีวประวัติ : (คำนาม) ประวัติชีวิตบุคคล.”
(๒) อัต + ชีวประวัติ = อัตชีวประวัติ (อัด-ตะ-ชี-วะ-ปฺระ-หฺวัด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อัตชีวประวัติ : (คำนาม) ประวัติชีวิตที่เจ้าของเขียนหรือเล่าด้วยตนเอง.”
ขยายความ :
คำว่า “ชีวประวัติ” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า biography
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล biography เป็นบาลีดังนี้:
jīvanacarita ชีวนจริต (ชี-วะ-นะ-จะ-ริ-ตะ) = ความประพฤติหรือความเป็นไปในระหว่างที่มีชีวิตอยู่
คำว่า “อัตชีวประวัติ” บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า autobiography
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล autobiography เป็นบาลีดังนี้:
sayaŋlikhita-cariyā สยํลิขิต–จริตา (สะ-ยัง-ลิ-ขิ-ตะ-จะ-ริ-ตา) = ความประพฤติหรือความเป็นไป (ในชีวิต) ที่เขียนขึ้นด้วยตนเอง
ได้หลักว่า:
“ชีวประวัติ” = ใครเขียนประวัติใครก็ได้
“อัตชีวประวัติ” = เจ้าของประวัติเขียนเอง
แถม :
ว่ากันว่าคนดังๆ สมัยนี้นิยมใช้วิธีเล่าเรื่องของตัวเองให้นักเขียนรับจ้างฟัง นักเขียนรับจ้างเอาไปเขียนใช้สรรพนามในเรื่องเหมือนกับเจ้าของประวัติเขียนเอง แล้วก็เรียกว่า “อัตชีวประวัติ”
“อัตชีวประวัติ” ที่ทำเช่นนี้ ถ้าเรียกเป็นคำบาลีก็เห็นจะตรงกับคำว่า “กูฏัตชีวประวัติ” อ่านว่า กู-ตัด-ตะ-ชี-วะ-ปฺระ-หฺวัด แปลตามศัพท์ว่า “อัตชีวประวัติโกง” หรือแปลล้อเสียงว่า “อัตชีวประวัติที่กูตัดต่อขึ้นมาเอง”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำดีหรือทำชั่ว
เป็นประวัติอยู่ในตัวของมันเอง
: ไม่ต้องเขียนให้ครื้นเครง
ตัวก็รู้อยู่แก่ใจ
28-1-64