บาลีวันละคำ

ปฐมเทศนา (บาลีวันละคำ 2,236)

ปฐมเทศนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ดังนี้ –

(1) ปะ-ถม-มะ-เท-สะ-นา

(2) ปะ-ถม-มะ-เทด-สะ-หฺนา

(3) ปะ-ถม-เทด-สะ-หฺนา

ประกอบด้วยคำว่า ปฐม + เทศนา

(๑) “ปฐม

บาลี (ฐ ฐาน ไม่มีเชิง) อ่านว่า ปะ-ถะ-มะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปฐฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว; สวด) + อม ปัจจัย

: ปฐฺ + อม > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขาพูดขึ้นในเบื้องต้น” (2) “บทอันเขาสวดโดยเป็นบทที่สูงสุด

(2) ปถฺ (ธาตุ = นับ) + อม ปัจจัย, แปลง ถฺ เป็น ฐฺ

: ปถฺ + อม = ปถม > ปฐม แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขานับในเบื้องต้น

ปฐม” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นปูรณสังขยา (เลขบอกลำดับที่): ที่หนึ่ง, ขึ้นหน้าที่สุด, ก่อน (the first, foremost, former)

(2) เป็นคุณนาม: ชั้นต้น, เป็นครั้งแรก (at first, for the first time)

(3) เป็นส่วนแรกของสมาส: ครั้งแรก, เร็วๆ นี้, ใหม่ๆ, เพิ่ง (first, recently, newly, just)

(๒) “เทศนา

บาลีเป็น “เทสนา” (เท-สะ-นา) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิสฺ > เทส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ทิสฺ + ยุ > อน = ทิสน > เทสน + อา = เทสนา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเครื่องแสดงเนื้อความ

เทสนา” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเทศน์, การสั่งสอน, บทเรียน (discourse, instruction, lesson)

(2) ควบกับ ธมฺม+เทสนา = ธมฺมเทสนา หมายถึง การสั่งสอนธรรม, การแสดงธรรม, การเทศน์, คำเทศน์หรือสั่งสอน (moral instruction, exposition of the Dhamma, preaching, sermon)

(3) การยอมรับ (โดยชอบด้วยกฎหมาย) ([legal] acknowledgment)

เทสนา” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “เทศน์” “เทศนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทศน์, เทศนา : (คำนาม) การแสดงธรรมสั่งสอนในทางศาสนา. (คำกริยา) แสดงธรรม เช่น พระเทศน์, (ภาษาปาก) โดยปริยายหมายความว่า ดุด่าว่ากล่าวอย่างยืดยาว เช่น วันนี้ถูกเทศน์เสียหลายกัณฑ์. (ป. เทสนา).”

ปฐม + เทศนา = ปฐมเทศนา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฐมเทศนา : (คำนาม) เทศนาครั้งแรกในพระพุทธศาสนา หมายถึง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร; ชื่อพระพุทธรูปปางหนึ่ง เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิบ้าง นั่งห้อยพระบาทอย่างนั่งเก้าอี้บ้าง เครื่องหมายสําคัญอยู่ที่พระหัตถ์ขวา ทํานิ้วพระหัตถ์กรีดเป็นวงกลม ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางหงายอยู่บนพระเพลาบ้าง ถือชายจีวรบ้าง ทําท่าทางประคองพระหัตถ์ขวาบ้าง.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –

ปฐมเทศนา : เทศนาครั้งแรก หมายถึงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากวันตรัสรู้สองเดือน ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี.”

อภิปราย :

๑ คำว่า “ปฐมเทศนา” พจนานุกรมฯ บอกคำอ่านไว้ 3 แบบ แบบที่ 3 (ดูข้างต้น) อ่านว่า ปะ-ถม-เทด-สะ-หฺนา คือไม่ออกเสียง -มะ- ระหว่าง “ปฐม” กับ “เทศนา” ตามหลักการอ่านคำสมาสที่ถูกต้อง

ตามทัศนะของผู้เขียนบาลีวันละคำ การอ่านตามหลักที่ถูกต้อง (แบบที่ (1) และ (2) – ดูข้างต้น) คือการอ่านแบบ “รักงาม” อ่านแล้วทำให้ภาษางดงาม

ส่วนการอ่านแบบที่ 3 เป็นการอ่านแบบ “รักง่าย” เอาสะดวกปากเข้าว่า แต่ภาษาไม่งาม แม้พจนานุกรมฯ จะบอกว่าอ่านได้ ผู้รักภาษาไทยก็ไม่ควรอ่านตาม

๒ วันที่พระพุทธองค์ทรงแสดง “ปฐมเทศนา” คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอาสาฬหะ (คือเดือน 8) ชาวพุทธ-โดยเฉพาะในเมืองไทย-กำหนดให้เป็นวันบูชาพิเศษ เรียกว่า “อาสาฬหบูชา” ปรารภความสำคัญคือพระพุทธองค์ทรงเริ่มประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรกประการหนึ่ง และเป็นวันที่มีพระอริยสงฆ์เกิดขึ้นเป็นองค์แรกอีกประการหนึ่ง กล่าวคือเมื่อทรงแสดง “ปฐมเทศนา” จบลง ท่านโกณฑัญญะหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้วทูลขออุปสมบท จึงทำให้มี “พระรัตนตรัย” บรรจบครบสามบริบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้นมา

เมื่อวันเช่นนี้เวียนมาถึง เราจึงชวนกันกระทำบูชา ทั้งโดยวิธีปฏิบัติบูชาและอามิสบูชา ตามสัตติกำลัง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การบูชาธรรมด้วยธูปเทียนดอกไม้ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ

: เว้นแต่ท่านที่เป็นพระอริยะมาตั้งแต่เกิด

#บาลีวันละคำ (2,236)

27-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *