บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำบอกบุญ

คำบอกบุญ

———–

วันนี้จะขออนุญาตญาติมิตรปรารภเรื่องงานบุญนะครับ 

เรื่องหลักก็คือ งานบุญประจำปีของวัดมหาธาตุ ราชบุรี หรือที่เรียกรู้กันว่า “งานปี” ซึ่งกำหนดมีขึ้นในเทศกาลมาฆบูชา ตามคำที่หลวงพ่อเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันท่านบอกให้ช่วยกันจำง่ายๆ ว่า “๑๒๓” (หนึ่ง-สอง-สาม) 

“๑๒” คือ ขึ้น ๑๒ ค่ำ 

“๓” คือ เดือน ๓

ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ คือวันพรุ่งนี้ กำหนดเป็นวันทำบุญถวายอดีตเจ้าอาวาส 

รุ่งขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันเปิดงานประจำปี และมีไปจนถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ อันเป็นวันมาฆบูชา รวมทั้งหมดก็ ๔ วัน

วันทำบุญถวายอดีตเจ้าอาวาสนั้น หลายๆ วัดเป็นเสมือนวันชุมนุมศิษย์เก่าไปในตัว บางวัดที่ผมเคยไปเห็นมา-เช่นวัดดาวดึงษารามเป็นต้น-ศิษย์เก่ามาชุมนุมกันคับคั่ง เรียกได้ว่าล้นวัด เห็นแล้วก็ปลื้มใจไปด้วย 

วันทำบุญถวายอดีตเจ้าอาวาสของวัดมหาธาตุราชบุรีไม่คับคั่งแบบนั้น พูดกันตรงๆ ก็ต้องว่าโหรงเหรง ไม่ใช่ว่าไม่มีศิษย์เก่า หรือศิษย์เก่าไม่รู้กำหนดงาน แต่จะเป็นด้วยเหตุอันใดก็สุดจะเดา 

ได้แต่นึกถึงคำของพระเดชพระคุณอาจารย์คู่สวดผม เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในวัด ท่านเคยปรารภว่า “ข้าววัดมหาธาตุไม่มียาง” 

ฟังแล้วเจ็บปวดเข้าไปถึงเยื่อในกระดูก 

ศิษย์เก่าหลายท่านบอกเหตุผลให้ฟังว่า ที่ไม่ได้ไปวัดมหาธาตุก็เพราะเข้าไปแล้วไม่รู้จะไปคุยกับใคร มีแต่พระเณรรุ่นใหม่ไม่เคยรู้จักทั้งนั้น 

เป็นเหตุผลที่ไม่มีเหตุผลเลยสักนิด 

ผมเข้าไปในวัดมหาธาตุแทบจะทุกวัน ไม่ใช่เพื่อจะไปคุยกับใคร แต่เข้าไปแสวงบุญใส่ตัว 

ถ้าอยากจะหาเพื่อนคุย —

พระปรางค์ที่เป็นประธานของวัดก็ยังอยู่ บริเวณรอบๆ สวยสะอาดขึ้นกว่าสมัยเราบวชอยู่ด้วยซ้ำไป 

หลวงพ่อมงคลบุรี พระพุทธรูปประจำวัดศิลปะอยุธยาก็ยังอยู่ 

หลวงพ่อพันปี-สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ องค์เดียวที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย ก็ยังอยู่ที่วัดมหาธาตุ

พระอุโบสถสมัยอยุธยาหลังคาแปลงที่เราเคยลงทำวัตรสวดมนต์กันทั้งปี-และโดยเฉพาะสามเดือนในพรรษาไม่เคยขาดสักวันเดียว-ก็ยังอยู่

มณฑป-ยอดสลักหักสลบ-อยู่เยื้องๆกับหน้าพระอุโบสถก็ยังอยู่ 

ต้นมะขาม-จามจุรี ๕ คนโอบ ก็ยังอยู่เต็มวัด

สิ่งทั้งปวงที่เอ่ยมานี้เป็นเพื่อนคุยกับเราได้ทั้งนั้น-ถ้าอยากจะหาเพื่อนคุย 

เจอพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาส-ศิษย์รุ่นพี่-ก็สนทนาธรรมกันตามประสาผู้สูงวัย 

ไม่เจอใคร ก็คุยกับหมาแมวซึ่งมีอยู่เต็มวัด

ผมเข้าไปไหว้พระ บริจาคบำรุงวัดตามกำลัง เดินดูวัด ระลึกความหลังว่าตรงนั้นตรงโน้นเราเคยนั่งเคยนอน เคยท่องหนังสือ เคยเรียนบาลี ลานวัดตรงนี้เราเคยกวาด ฯลฯ 

บรรดาอตีตารมณ์ที่เป็นบุญมีอยู่ทั่วไปทุกแห่ง 

โดยเฉพาะวันทำบุญถวายอดีตเจ้าอาวาส บรรดาศิษย์เก่าสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องไป สมควรจัดระเบียบตัวเองให้ว่าง-แล้วไปร่วมงาน 

นี่เป็นเรื่องแรกที่ขออนุญาตบอกกล่าว 

เรื่องต่อไปก็คือ กิจกรรมสำคัญในงาน นั่นคือการเทศน์มหาชาติ 

เริ่มตั้งแต่ ๖ โมงเย็นวันขึ้น ๑๒ ค่ำ หลังจากช่วงเช้างานทำบุญถวายอดีตเจ้าอาวาสแล้ว ตกเย็นก็เริ่มเทศน์คาถาพันเป็นประเดิมแห่งการเทศน์มหาชาติ 

รุ่งขึ้น ๑๓ ค่ำ ก็เริ่มเทศน์เนื้อในของมหาชาติ เริ่มแต่กัณฑ์ทศพรเป็นต้นไป

เทศน์มหาชาติที่วัดมหาธาตุราชบุรีเป็นการเทศน์เรียงกัณฑ์ ไม่ใช่เทศน์ทรงเครื่องตะลุมบอนปนกันมั่วเหมือนที่อื่น

ที่นี่เทศน์เรียงกัณฑ์ แต่ละกัณฑ์นิมนต์พระธรรมกถึกที่เชี่ยวชาญประจำกัณฑ์นั้นๆ มาเทศน์ 

เทศน์ฟังทำนอง ฟังกระแสเสียง ฟังอรรถรสของถ้อยคำสำนวนร่ายยาวที่กวีแต่ปางก่อนท่านรจนาไว้ ที่พระธรรมกถึกท่านฝึกหัดถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ 

……………..

มีเรื่องปรับทุกข์แทรกไว้ตรงนี้นิดหนึ่งว่า พระธรรมกถึกบางรูปที่คัดสรรนิมนต์มา ทางวัดได้เผดียงไว้ชัดแจ้งว่าให้เทศน์เต็มตามรูปแบบของเดิม ว่าเนื้อว่าทำนองไปเต็มตามสูตร ย้ำอย่างนี้เสมอ ผมเองเคยเผดียงย้ำก่อนจะขึ้นธรรมาสน์ด้วยซ้ำ 

แต่บางรูปไม่เข้าใจนโยบาย พอขึ้นธรรมาสน์ก็ตั้งท่าเล่าเรื่องเทศน์มหาชาติเป็นคุ้งเป็นแคว ปีนั้นไปเทศน์ที่โน่น ปีโน้นไปเทศน์ที่นั่น ญาติโยมที่นั่นที่โน่นเป็นยังงั้นยังโง้น เล่าสนุกไป 

ว่าเนื้อว่าทำนองในกัณฑ์แค่นิดๆ หน่อยๆ ก็หมดเวลา เอวํ 

แบบนี้ เคยเสนอแนะทางวัดให้เลิกนิมนต์ไปแล้วก็มี 

เทศน์ตามเนื้อตามทำนองประจำกัณฑ์แท้ๆ ขอรับ ไม่ใช่ขึ้นมาเล่าเรื่องไปเทศน์มหาชาติที่นั่นที่นี่ หรือมาเล่าประเพณีเทศน์มหาชาติ 

ก็ขออนุญาตปรารภไว้ที่นี่ เผื่อจะไปเข้าหูเข้าตาพระธรรมกถึกที่ไหนเข้าบ้าง

……………..

แล้วก็เช่นที่เคยปฏิบัติมา ปีนี้ผมก็ตั้งใจงดภารกิจอื่นๆ เพื่อฟังเทศน์มหาชาติให้เต็มกำลังเหมือนทุกปี โดยตั้งใจไว้ว่า – 

๑ จะฟังทุกกัณฑ์ตั้งแต่คาถาพันเป็นต้นไป ให้ครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์

๒ จะฟังตั้งแต่ต้นจนจบตลอดกัณฑ์ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ 

๓ และจะนั่งพับเพียบกับพื้น ประนมมือฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่นั่งเก้าอี้ 

ข้อ ๓ นี่ ผมมีเหตุผลส่วนตัว คือตั้งใจบำเพ็ญขันติธรรม กับอีกประการหนึ่ง ผมมีความเห็นส่วนตัวว่าเดี๋ยวนี้คนไทยนั่งพับเพียบจะไม่เป็นอยู่แล้ว อ้างสารพัดเพื่อจะนั่งเก้าอี้ 

ผมพูดประชดอยู่บ่อยๆ ว่า ต่อไปฝรั่งจะมาสอนวิธีนั่งพับเพียบให้คนไทย 

โดยเฉพาะข้ออ้างเกี่ยวกับสุขภาพ-เช่นเข่าไม่ดี ลุกนั่งลำบาก-นิยมอ้างกันมาก ซึ่งผมรู้สึกอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง 

เมื่อประมาณ ๖๐-๗๐ ปีที่ล่วงมา ผมเป็นเด็กวัด วันพระมีคนมาทำบุญเต็มศาลา ทุกคนนั่งกับพื้นศาลา แม้แต่คนเฒ่าคนแก่ขนาดไหนก็นั่งกับพื้น ไม่มีใครนั่งเก้าอี้ (ใครจะอ้างว่าสมัยนั้นยังไม่มีเก้าอี้มากเหมือนสมัยนี้-ก็เชิญอ้างไป) ไม่มีใครยกเอาปัญหาสุขภาพขึ้นมาอ้างเหมือนสมัยนี้ 

ก็เวลานี้เราอวดอ้างกันมิใช่หรือว่า วิทยาศาสตร์การแพทย์ การสาธารณสุข หรือการบำรุงสุขภาพอนามัยของประชาชนเจริญก้าวหน้ากว่าสมัยก่อนไปมากแล้ว 

แต่ทำไมคนสมัยนี้นั่งกับพื้นไม่ถนัด อ้างปัญหาสุขภาพ? 

ชอบกลดี

แต่ไม่ต้องเถียงกันนะครับ แค่ปรารภสู่กันฟังเท่านั้น 

……………..

เป็นอันได้ความตามที่ปรารภมาว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้ (๑๖ กุมภาพันธ์) เป็นต้นไป เป็นเวลา ๔ วัน ผมมีกิจจะต้องไปแสวงบุญในเทศกาลมาฆบูชาที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี บุญหลักคือฟังเทศน์มหาชาติ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ทุกวัน 

ออกจากบ้านไปวัด ผมจะเดินไป ออกจากวัดกลับบ้าน ผมก็จะเดินกลับ อันนี้ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งที่ผมพอใจที่จะทำ เป็นการออกกำลังเล็กๆ น้อยๆ ไปในตัว 

การเดินนี่ก็เป็นเรื่องชอบกลอีกอย่างหนึ่ง คือคนสมัยนี้ไม่เห็นประโยชน์ของการเดินในชีวิตประจำวัน มีข้ออ้างสารพัดเช่นกัน และมีแนวโน้มว่าต่อไปในอนาคตคนจะเดินกันไม่เป็น

แต่เหนืออื่นใด ระหว่างทางก็เป็นโอกาสได้เจริญสติ และหากเผอิญมีใครเห็นและรู้ว่าผมกำลังไปแสวงบุญหรือกำลังกลับจากแสวงบุญ แล้วมีจิตคิดอนุโมทนาแม้เพียงแว็บเดียว นั่นก็คือบุญส่วนพิเศษอันถือว่าเป็นกำไรเพิ่มขึ้นไปอีก

ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนญาติมิตรที่ (๑) มีเวลาว่างพอ (๒) สามารถไปไหนมาไหนได้ และ (๓) มีศรัทธา ข้อหลังนี่สำคัญที่สุด ไปเที่ยววัดมหาธาตุ ราชบุรี และไปฟังเทศน์มหาชาติโดยทั่วหน้ากันนะครับ

……………..

อนึ่ง บาลีวันละคำที่ผมเขียนอยู่ก็จะยังมีเสนอเป็นปกติ ไม่ขาดไปไหน เพียงแต่ว่าเวลาโพสต์อาจจะล่าไปจากเวลาปกติ จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้เป็นการล่วงหน้า 

……………..

ผมระลึกอยู่เสมอว่า คนเราไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนควรเก็บบุญใส่ย่ามไว้เสมอ และทุกเวลานาทีที่ผ่านไปควรมั่นใจได้เป็นอย่างยิ่งว่า เรามีเสบียงพอเพียงที่จะใช้ในการเดินทาง-ที่ทุกคนจะต้องไป และจะต้องไปเพียงลำพังตัวคนเดียว ไม่มีใครช่วยดูแลใครได้ และที่สำคัญที่สุดที่เรามักจะลืมกันก็คือ ในการเดินทางนั้นไม่มีใครแจ้งล่วงหน้าว่าเราจะต้องไปเมื่อไร 

เพราะฉะนั้น เราจึงควรถามตัวเองอยู่เสมอว่า ถ้าต้องออกเดินทางเดี๋ยวนี้ เราพร้อมหรือยัง 

บุญในย่ามมีพอหรือยัง

ถอยไปอีก-เคยมีย่ามสำหรับใส่บุญประจำตัวบ้างหรือเปล่า 

ถ้ายังไม่มีอะไรสักอย่าง-ก็ตัวใครตัวมันนะครับ

ขอทุกท่านโปรดอนุโมทนาบุญ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทโดยทั่วกันเทอญ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

๑๖:๓๑

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *