บาลีวันละคำ

สมมติเทวราชอุปบัติ (บาลีวันละคำ 2,440)

สมมติเทวราชอุปบัติ

…………..

ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –

(1) มูลสถานบรมอาสน์

(2) สมมติเทวราชอุปบัติ

(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์

(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร

(6) อมรพิมานมณี

(7) สุทธาศรีอภิรมย์

(8) บรรณาคมสรนี

(9) ปรีดีราชวโรทัย

(10) เทพดนัยนันทยากร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย

ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

สมมติเทวราชอุปบัติ” อ่านว่า สม-มด-ติ-เท-วะ-ราด-อุบ-ปะ-บัด

มีคำที่อาจอ่านได้ 2 แบบอยู่ 2 คำ คือ –

ราช” อ่านว่า ราด ก็ได้ อ่านว่า ราด-ชะ- ก็ได้

อุปบัติ” อ่านว่า อุ-ปะ-บัด ก็ได้ อ่านว่า อุบ-ปะ-บัด ก็ได้

ในความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ อ่านว่า สม-มด-ติ-เท-วะ-ราด-อุบ-ปะ-บัด ดังบอกไว้ข้างต้นน่าจะไพเราะดีกว่า

แยกศัพท์เป็น สมมติ + เทว + ราช + อุปบัติ

(๑) “สมมติ

บาลีเป็น “สมฺมติ” (มีจุดใต้ มฺ ตัวแรก) อ่านว่า สำ-มะ-ติ รากศัพท์มาจาก สํ + มติ

(1) “สํ” (สัง) เป็นคำอุปสรรค ตำราบาลีไทยแปลว่า “พร้อม, กับ, ดี” หมายถึง พร้อมกัน, ร่วมกัน (together)

(2) “มติ” (มะ-ติ) รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบ ที่สุดธาตุ (มนฺ > )

: มนฺ + ติ = มนติ > มติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) หมายถึง ความรู้, ญาณ, ปัญญา, ความคิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ให้ความหมายคำว่า “มติ” ว่า mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for (จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา)

สํ + มติ แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ)

: สํ + มติ = สํมติ > สมฺมติ แปลว่า “การรู้พร้อมกัน” คือ รับรู้ร่วมกัน, ยอมรับร่วมกัน

ในที่นี้ “สมฺมติ” เป็นคำนาม หาคำแปลเป็นอังกฤษในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ปรากฏว่าพจนานุกรมบาลี-อังกฤษมีแต่ “สมฺมติ” ที่เป็นคำกริยา ส่วนที่เป็นคำนามมีคำว่า “สมฺมุติ” (สำ-มุ-ติ) ซึ่งมีความหมายในทำนองเดียวกันกับ “สมฺมติ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สมฺมุติ” ในบาลีไว้ดังนี้ –

(1) consent, permission (การยินยอม, การอนุญาต)

(2) choice, selection, delegation (การเลือก, การคัดเลือก, คณะผู้แทน)

(3) fixing, determination [of boundary] (การกำหนด, การกำหนดหมาย [เขตแดน])

(4) common consent, general opinion, convention, that which is generally accepted (การยินยอมโดยทั่วๆ ไป, ความเห็นทั่วๆ ไป, ระเบียบแบบแผน, สิ่งที่ยอมรับทั่วๆ ไป)

(5) opinion, doctrine (ความคิดเห็น, คำสอน)

(6) definition, declaration, statement (คำจำกัดความ, คำประกาศ, การแถลง)

(7) a popular expression, a mere name or word (คำพูดที่นิยมกัน, เป็นเพียงชื่อหรือคำเท่านั้น)

(8) tradition, lore (ขนบประเพณี, เรื่องเก่า ๆ)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำในชุดนี้ไว้หลายคำ บอกไว้ดังนี้ –

สมมต, สมมติ, สมมติ-, สมมุติ, สมมุติ– : (คำกริยา) รู้สึกนึกเอาว่า เช่น สมมติให้ตุ๊กตาเป็นน้อง. (คำสันธาน) ต่างว่า, ถือเอาว่า, เช่น สมมุติว่าได้มรดกสิบล้าน จะบริจาคช่วยคนยากจน สมมุติว่าถูกสลากกินแบ่งรางวัลที่ ๑ จะไปเที่ยวรอบโลก. (คำวิเศษณ์) ที่ยอมรับตกลงกันเองโดยปริยาย โดยไม่คํานึงถึงสภาพที่แท้จริง เช่น สมมติเทพ.”

(๒) “เทว

บาลีอ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

(๓) “ราช

บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า –

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (ปัจจัย) = ราช

หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี

ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + (ปัจจัย) ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา = ราช

หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

(๔) “อุปบัติ

บาลีเป็น “อุปปตฺติ” (อุ-ปะ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก อุป (อุ-ปะ, คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (ป)-ทฺ เป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)

: อุป + ปทฺ = อุปปทฺ + ติ = อุปปทฺติ > อุปปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การเข้าถึง

แถม :

เฉพาะ “ปตฺติ” คำเดียว (ไม่มี “อุป” นำหน้า) ในบาลีใช้ในความหมายหลากหลาย กล่าวคือ –

(1) การได้รับ, การได้มา, การได้, การเข้าร่วม, การเข้าถึง (obtaining, acquiring, getting, entering into, state of)

(2) การบรรลุ, การถึง (attainment, acquisition)

(3) การได้, สิ่งที่ได้, กำไร, ผลประโยชน์ (gaining, gain, profit, advantage)

(4) ส่วนบุญ, กำไร (merit, profit)

(5) สิ่งที่ได้รับ, โอกาส, สิ่งที่เกิดขึ้น, สถานะ, สถานที่ (that which obtains, occasion, happening, state, place)

ความหมายของ “อุปปตฺติ” ในบาลี พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ดังนี้ –

1. lit. “attainment”, birth, re-birth (แปลตามศัพท์ว่า “การบรรลุ” หมายถึง การอุบัติ, การเกิด)

2. lit. “coming to”, occasion, opportunity (แปลตามศัพท์ว่า “การมาถึง” หมายถึง โอกาส, กาล); objects suitable for gifts (วัตถุที่เหมาะสำหรับให้ทาน)

อุปปตฺติ” ภาษาไทยใช้เป็น “อุปบัติ” อ่านว่า อุ-ปะ-บัด ก็ได้ อุบ-ปะ-บัด ก็ได้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุปบัติ : (คำนาม) การเข้าถึง เช่น คติอุปบัติ = การเข้าถึงคติ, การเกิด. (ป. อุปปตฺติ).”

แถมข้อสังเกต :

อุปปตฺติ” ในภาษาบาลี มีคำที่คล้ายกันอีกคำหนึ่ง คือ “อุปฺปตฺติ

โปรดสังเกต –

อุปปตฺติ” ไม่มีจุดใต้ ตัวแรก อ่านว่า อุ-ปะ-ปัด-ติ คือที่ภาษาไทยใช้ว่า “อุปบัติ” (อุ-ปะ-บัด, อุบ-ปะ-บัด)

อุปฺปตฺติ” มีจุดใต้ ปฺ ตัวแรก อ่านว่า อุบ-ปัด-ติ คือที่ภาษาไทยใช้ว่า “อุบัติ” (อุ-บัด)

ข้อแตกต่างของรากศัพท์ :

อุปปตฺติ” (ไม่มีจุดใต้ ตัวแรก) ประกอบด้วย อุป (อุ-ปะ, คำอุปสรรค) + ปตฺติ : อุป + ปตฺติ

อุปฺปตฺติ” (มีจุดใต้ ปฺ ตัวแรก) ประกอบด้วย อุ (อุ คำอุปสรรค คนละคำกับ อุป) ซ้อน ปฺ + ปตฺติ : อุ + ปฺ + ปตฺติ 

อุปปตฺติ” ไม่มีจุดใต้ ตัวแรก แปลว่า การอุบัติ, การเกิดใหม่ (birth, re-birth); การบรรลุ (attainment); โอกาส กาล การมาถึง (occasion, opportunity, coming to); วัตถุสำหรับให้ (objects suitable for gifts)

อุปฺปตฺติ” (มีจุดใต้ ปฺ ตัวหน้า, อุบ-ปัด-ติ) แปลว่า การเกิดขึ้น, การผลิตขึ้น, กำเนิด, ต้นกำเนิด, การเกิดใหม่, โอกาส (coming forth, product, genesis, origin, rebirth, occasion)

กำหนดความหมายส่วนที่แตกต่างกันอย่างง่ายๆ –

อุปปตฺติ” (อุ-ปะ-ปัด-ติ ไม่มีจุดใต้ ตัวแรก) ใช้ในความหมายว่า “เข้าถึง” คือบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

อุปฺปตฺติ” (อุบ-ปัด-ติ, มีจุดใต้ ปฺ ตัวแรก) ใช้ในความหมายว่า “เกิดขึ้น” คือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏตัวขึ้น

การประสมคำ :

(๑) สมมติ + เทว = สมมติเทว เป็นคำเดียวกับที่ในภาษาไทยเรียกว่า “สมมติเทพ” แปลว่า “เทพโดยสมมุติ” ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์

(๒) แต่คำนี้ยังสามารถประสมได้อีกแบบหนึ่ง คือ เทว + ราช = เทวราช ภาษาไทยอ่านว่า เท-วะ-ราด แปลว่า “เทวดาผู้เป็นพระราชา (ของเหล่าเทวดา)” คือหัวหน้าเทวดา หรือ “พระราชาผู้เปรียบด้วยเทวดา” หมายถึงพระมหากษัตริย์

ดังนั้น เมื่อประสมกันทั้ง 3 คำเป็น “สมมติเทวราช” แปลได้ความว่า “พระราชาผู้เปรียบด้วยเทวดาโดยสมมุติ” ก็หมายถึงพระมหากษัตริย์นั่นเอง

(๓) สมมติเทวราช + อุปบัติ = สมมติเทวราชอุปบัติ แปลแบบบาลีว่า “สถานที่เป็นที่เกิดของสมมติเทวราช” หรือแปลแบบไทยว่า “สมมติเทวราชเกิด (ณ ที่นี้)”

ได้ยินมาว่า สถานที่สร้างพระที่นั่งองค์นี้เดิมเป็นบริเวณพระตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชสมภพ นามพระที่นั่ง “สมมติเทวราชอุปบัติ” จึงหมายถึงสถานที่สมมุติเทพอันหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เกิดมาเอา ทุกคนเกิดได้

: เกิดมาให้ เกิดไม่ได้ทุกคน

#บาลีวันละคำ (2,440)

16-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *