บาลีวันละคำ

มูลสถานบรมอาสน์ (บาลีวันละคำ 2439)

มูลสถานบรมอาสน์

…………..

ในพระบรมมหาราชวังมีพระที่นั่งหมู่หนึ่ง ตั้งชื่อคล้องจองกันอย่างไพเราะเพราะพริ้งนับได้ถึง 10 ชื่อ ดังนี้ –

(1) มูลสถานบรมอาสน์

(2) สมมติเทวราชอุปบัติ

(3) ดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์

(4) นิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร

(5) บรมราชสถิตยมโหฬาร

(6) อมรพิมานมณี

(7) สุทธาศรีอภิรมย์

(8) บรรณาคมสรนี

(9) ปรีดีราชวโรทัย

(10) เทพดนัยนันทยากร

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอนำชื่อพระที่นั่งแต่ละองค์มาแยกศัพท์และแปลสู่กันฟังตามสติปัญญา เพื่อเป็นอลังการทางภาษาและเป็นเครื่องประเทืองปัญญาตามสมควร

อนึ่ง พึงทราบว่า ชื่อพระที่นั่งเหล่านี้เป็นวิสามานยาม (proper name) การแยกศัพท์และแปลจึงกระทำไปเท่าที่ตาเห็น ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไปจากเจตนาของผู้ตั้งชื่อก็เป็นได้

อีกประการหนึ่ง ขอบเขตของบาลีวันละคำมีเพียงแค่แยกศัพท์และแปลความหมายเท่านั้น มิได้แสดงรายละเอียดอื่นๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ประกอบไว้ด้วย

ดังนั้น หากญาติมิตรท่านใดมีข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่แสดงไว้ก็ดี มีรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับพระที่นั่งแต่ละองค์ก็ดี หากจะกรุณานำมาร่วมเสนอไว้เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

มูลสถานบรมอาสน์” อ่านว่า มูน-ละ-สะ-ถาน-บอ-รม-มะ-อาด แยกศัพท์เป็น มูล + สถาน + บรม + อาสน์

(๑) “มูล

บาลีอ่านว่า มู-ละ รากศัพท์มาจาก มูลฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่, งอกขึ้น) + ปัจจัย

: มูลฺ + = มูล แปลตามศัพท์ว่า “ที่ตั้ง” “ที่งอกขึ้น

มูล” ในภาษาลีมีความหมายหลายหลาก ดังนี้ –

(1) รากไม้ (root)

(2) โคน, ก้น (foot, bottom)

(3) หลักฐาน, เหตุผล, สาเหตุ, เงื่อนไข (ground for, reason, cause, condition)

(4) กำเนิด, บ่อเกิด, พื้นฐาน, รากฐาน (origin, source, foundation, root)

(5) ปฐม, เริ่มแรก, ฐาน, เค้าความเดิม, เรื่องเดิม (beginning, base)

(6) แก่นสาร, มูลฐาน, ค่า, เงิน, ต้นทุน, ราคา, สินจ้าง (substance, foundation, worth, money, capital, price, remuneration)

ในที่นี้ “มูล” มีความหมายนัยแห่งข้อ (4) และข้อ (5)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มูล” ไว้ 4 คำ ที่มีความหมายตามนัยที่ประสงค์ในที่นี้คือ มูล ๑ บอกไว้ดังนี้ –

มูล ๑, มูล– : (คำนาม) โคน เช่น รุกขมูล; ราก, รากเหง้า, เช่น มีโทสะเป็นมูล, เค้า เช่น คดีมีมูล, ต้น เช่น ชั้นมูล. (ป. มูล; ส. มูลฺย).”

(๒) “สถาน

บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)

บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”

ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”

(๓) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ.”

(๔) “อาสน์

บาลีเป็น “อาสน” (อา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน)

อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)

การประสมคำ :

(๑) มูล + สถาน = มูลสถาน (มูน-ละ-สะ-ถาน) แปลว่า “สถานที่เดิม” คือสถานที่ซึ่งเคยใช้เป็นที่ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งมาแต่เดิม แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้เพื่อทำกิจเช่นนั้นแล้ว

(๒) บรม + อาสน์ = บรมอาสน์ (บอ-รม-มะ-อาด) แปลว่า “ที่นั่งอย่างดีเลิศ” “ที่ประทับอันยอดเยี่ยม

(๓) มูลสถาน + บรมอาสน์ = มูลสถานบรมอาสน์ 

แปลความว่า “ที่ประทับอันยอดเยี่ยมอันเป็นสถานที่ดั้งเดิม” หรือ “สถานที่ดั้งเดิมอันเป็นที่ประทับที่อันยอดเยี่ยม

ได้ยินมาว่า เหตุที่พระที่นั่งองค์นี้ได้นามว่า “มูลสถานบรมอาสน์” ก็เพราะเหตุที่บริเวณที่สร้างพระที่นั่งองค์นี้เป็นสถานที่อันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยประทับมาแต่ยังทรงพระเยาว์

อภิปรายแถม :

คำว่า “อาสน์” หรือ “อาสน” เป็นคำที่คู่กับ “เสน” (เส-นะ) แปลว่า “ที่นอน” สมาสกันเป็น “เสนาสน” แปลว่า “ที่นอนและที่นั่ง” หรือทับศัพท์ว่า “เสนาสนะ” หมายถึงที่อยู่หรือที่พักของพระภิกษุสามเณร เป็นคำที่ชาววัดคุ้นเคยกันดี

คำว่า “อาสน” เราแปลทับศัพท์ว่า “อาสนะ” แปลออกศัพท์ว่า “ที่เป็นที่นั่ง” หรือแปลสั้นว่า “ที่นั่ง” คำว่า “ที่นั่ง” เมื่อใช้เป็นราชาศัพท์ก็เป็น “พระที่นั่ง

ดังนั้น คำว่า “พระที่นั่ง” ในภาษาไทยจึงน่าจะยืนยันได้ว่า มาจากคำแปลคำว่า “อาสน” ในบาลีว่า “ที่นั่ง” นี่เอง อนึ่ง พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำว่า “อาสน” เป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า throne ก็เป็นเครื่องสนับสนุนได้อีกทางหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ที่เกิด เลือกไม่ได้

: แต่ที่จะไปเกิด เลือกได้

#บาลีวันละคำ (2,439)

15-2-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *