บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๑)

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๖) ตอน -๗-

————————————

มองพระศาสนาให้ตรง ลงมือทำให้ถูก

——————-

-๗-

——————-

ยังมีการศึกษาอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะจัดอยู่ในส่วนที่เป็นมหภาค แต่เพราะเป็นส่วนพิเศษ จึงขอแยกมากล่าวเป็นต่างหาก นั่นก็คือมหาวิทยาลัยสงฆ์

มหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นเกิดขึ้นตามเจตนาที่ว่า-จะให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาวิทยาการบางอย่างอันจะใช้เป็นอุปกรณ์หรือเป็นเครื่องมือในการประกาศเผยแผ่พระศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

ยกตัวอย่างที่อาจช่วยให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็อย่างเช่น ถ้าภิกษุสามารถแสดงธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้ คนทั้งหลายก็จะรู้สึกตื่นเต้นและชื่นชมยินดีว่า พระนี่เก่งแฮะ แล้วมีใจน้อมมาในทางที่จะยอมรับฟังคำสอนง่ายขึ้น 

ถ้าพระรู้วิทยาการอื่นๆ อีก เท่ากับที่ผู้คนในสังคมเขารู้กัน จนเกิดความรู้สึกยอมรับ หรือ “ทึ่ง” ว่าพระนี่เก่งนะ รู้วิชาต่างๆ เหมือนกับที่เรารู้ ก็จะเป็นการเปิดทางให้ผู้คนในสังคมยอมรับฟังคำสอนได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น ถ้าพระเรียนภาษาอังกฤษ เรียนปรัชญา เรียนนิติศาสตร์ เรียนรัฐศาสตร์ เรียนสังคมวิทยา เรียนวิทยาศาสตร์ ฯลฯ พระก็จะมีศักยภาพในการทำงานเผยแผ่พระธรรมวินัยได้อย่างดียิ่ง

จึงมีผู้อุปมาให้เห็นภาพว่า พระธรรมวินัยเปรียบเหมือนตัวรถ วิทยาการบางอย่างเปรียบเหมือนรางรถที่จะช่วยทำให้รถแล่นไปสู่ปวงประชาได้สะดวกขึ้นง่ายขึ้น

หลักของมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงคือ-ศึกษาพระธรรมวินัยเป็นหลัก ศึกษา “วิทยาการบางอย่าง” เป็นส่วนประกอบเพื่อนำไปสนับสนุนการเผยแผ่พระธรรมวินัย

แต่ทุกวันนี้เป้าหมายที่ว่านี้เบี่ยงเบนไปมากจนน่าวิตก คือกำลังจะกลายเป็นว่า ศึกษา “วิทยาการบางอย่าง” เป็นหลัก พระภิกษุสามเณรที่จบการศึกษาแล้วจะได้รับวุฒิการศึกษาเหมือนกับชาวบ้าน และหากลาสิกขาออกไปก็สามารถใช้เป็นช่องทางประกอบอาชีพได้เหมือนชาวบ้านทั่วไป 

ตรงนี้เองที่เป็นโอกาสหรือช่องทางให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่พร้อมหรือไม่สามารถจะศึกษาในเพศฆราวาสได้-อาศัยเป็นช่องทางศึกษาโดยเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วศึกษาตามเส้นทางนี้ 

และตรงนี้เองที่เป็นเหตุให้ถูกมองในเชิงตำหนิว่า บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ อาศัยผ้าเหลืองเป็นทางเล่าเรียนแล้วสึกออกไปแย่งงานชาวบ้านทำ เป็นการเอาเปรียบสังคม 

ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี หรือต้องพยายามมองให้ถูกมุม มิเช่นนั้นจะพูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วก็จะเป็นเหตุให้โกรธเกลียดกัน 

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องแทรก จึงควรยกไปอภิปรายกันในโอกาสอื่น ในที่นี้ขอเจาะเฉพาะกระบวนการศึกษาก่อน

เมื่อทำท่าจะศึกษา “วิทยาการบางอย่าง” เป็นหลัก การศึกษาพระธรรมวินัยก็กลายเป็นเรื่องที่รองลงไป รวมทั้งวิธีการหรือรูปแบบของการศึกษาก็กำลังจะมีลักษณะเป็นการทำกิจกรรมตามชั่วโมงการเรียน เน้นการเขียนคำตอบ ทำรายงาน แม้จะมีการอ่านการค้นคว้า แต่ก็เพียงเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบตามกระบวนการศึกษา และวัดผลกันที่การเขียนการทำเอกสาร และวัดผลกันที่การเขียน รวมความว่าเป็นกระบวนการศึกษาตามแบบที่ทางโลกๆ เขาทำกัน 

งานทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นเพียงกิจกรรมที่ทำในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อผลคือสำเร็จการศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด 

ไม่ใช่ชีวิตจริง 

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว กิจกรรมเหล่านั้นก็เลิกหมด หรือแม้ยังไม่ทันสำเร็จการศึกษาด้วยซ้ำไป ถ้าเมื่อสอบผ่านรายวิชานั้นๆ ไปแล้วก็ไม่ได้ทำกิจกรรมเช่นนั้นอีก หรือถ้าจะมีใครยังทำอยู่ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ “การศึกษา” ที่มหาวิทยาลัยจัดให้ จะเรียกได้อย่างใกล้ความจริงที่สุดก็เพียง “ผลพลอยได้” ที่ตกค้างมาจากกระบวนการศึกษา แต่ไม่ใช่เป้าหมายตรงๆ ที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒

๑๓:๑๙ 

—————

(อ่านต่อตอน -๘-)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *