อัพภากุฏิกะ (บาลีวันละคำ 2,923)
อัพภากุฏิกะ
หนึ่งในคุณสมบัติของคนรับแขก
อ่านว่า อับ-พา-กุ-ติ-กะ
เขียนแบบบาลีเป็น “อพฺภากุฏิก” อ่านว่า อับ-พา-กุ-ติ-กะ เหมือนกัน ประกอบด้วยคำตามหลักไวยากรณ์ คือ น + ภากุฏิก
(๑) “น” บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ แปลง น เป็น อ– เช่น
: น + มนุสฺส = นมนุสฺส > อมนุสฺส > อมนุษย์
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ แปลง น เป็น อน– เช่น
: น + อาคต (มาแล้ว) : น > อน + อาคต = อนาคต (ไม่มาแล้ว = ยังไม่มา)
ในที่นี้ คำหลังคือ “ภากุฏิก” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ จึงต้องแปลง น เป็น อ– (ดูการประสมคำข้างหน้า)
(๒) “ภากุฏิก” (พา-กุ-ติ-กะ)
คำนี้เป็น “ภากุฏิ” (พา-กุ-ติ) ก็มี “ภากุฏิก” และ “ภากุฏิ” แปลว่า “มีรอยคด (บนใบหน้า)”
รากศัพท์ของคำนี้น่าจะมาจาก กุฏฺ ธาตุ แปลว่า คด, งอ, โค้ง + อิก ปัจจัย แต่ “ภา-” ข้างหน้าจะแทนศัพท์อะไรยังสงสัย ปกติ “ภา” (มาจาก ภา ธาตุ) แปลว่า พูด, บอก; สว่าง, แจ้ง “ภากุฏิก” อาจแปลว่า “บอกให้รู้ว่าคด” หรือ “คดอย่างแจ่มแจ้ง” คือคดเห็นๆ เห็นกันชัดๆ ว่าคด
ที่ว่านี้คือคาดเดา เพราะยังไม่พบตำราที่แสดงรากศัพท์
อีกนัยหนึ่ง มาจาก ภกุฏฺ ธาตุ แปลว่า คด, งอ, โค้ง เหมือน กุฏฺ ธาตุ + ณิก ปัจจัย ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ภ– เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (ภกุฏฺ > ภากุฏฺ)
ที่ว่านี้ก็คาดเดาอีกเหมือนกัน ภกุฏฺ ธาตุจะมีหรือเปล่า ผู้เขียนบาลีวันละคำไม่มีตำราธาตุให้ค้น ถ้าไม่มีธาตุตัวนี้ ก็แปลว่าเดาผิด
สรุปก็คือ รากศัพท์คำว่า “ภากุฏิก” และ “ภากุฏิ” ผู้เขียนบาลีวันละคำยอมจำนน ขอฝากนักเลงบาลีทั้งหลายช่วยสืบค้นให้ด้วย เพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกันสืบไป
แต่ที่ไม่ต้องสงสัยหรือคาดเดาก็คือ คำว่า “ภากุฏิก” และ “ภากุฏิ” มีใช้ในคัมภีร์ และมีคำแปลที่ชัดเจน
ข้างไทยเราแปลกันว่า “สยิ้วหน้า”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า knitting the eyebrows, frowning (ขมวดคิ้ว, หน้าบึ้งหรือหน้านิ่วคิ้วขมวด)
การประสมคำ :
: น + ภากุฏิก ตามสูตรที่กล่าวข้างต้นควรเป็น “อภากุฏิก” แต่เพื่อความสะดวกในการเปล่งเสียง ท่านจึงให้ซ้อนพยัญชนะหน้า ภ ในวรรคเดียวกัน
พยัญชนะในวรรคที่มี ภ คือ ป ผ พ ภ ม (บาลีอ่านว่า ปะ ผะ พะ ภะ มะ) พยัญชนะหน้า ภ คือ พ ดังนั้น จึงซ้อน พฺ ระหว่าง อ กับ ภ
: น > อ + พฺ + ภากุฏิก = อพฺภากุฏิก (อับ-พา-กุ-ติ-กะ) แปลว่า “ไม่สยิ้วหน้า” หมายถึง ไม่ทำหน้าบึ้ง, ร่าเริง, เบิกบาน (not frowning, genial)
“อพฺภากุฏิก” เขียนแบบไทยเป็น “อัพภากุฏิกะ”
ขยายความ :
“อัพภากุฏิกะ” เป็นหนึ่งในคุณสมบัติของพระพุทธองค์ แสดงไว้ในโสณทัณฑสูตรและกูฏทันตสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 182 และข้อ 203 ดังนี้ –
…………..
(1) เอหิสาคตวาที = กล่าวเชื้อเชิญ (a man of courtesy แปลตามตัว: one who habitually says: “come you are welcome”)
(2) สขิโล = ผูกไมตรี (kindly in speech)
(3) สมฺโมทโก = สุภาพ (polite)
(4) อพฺภากุฏิโก = ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด (not frowning, genial)
(5) อุตฺตานมุโข = ยิ้มแย้มแจ่มใส (speaking plainly, easily understood)
(6) ปุพฺพภาสี = ทักทายก่อน (speaking obligingly)
…………..
ผู้รู้ท่านพิจารณาแล้วลงความเห็นว่า นี่คือคุณสมบัติของคนที่ควรทำหน้าที่รับแขก
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 425 อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายโสณทัณฑสูตร ขยายความคำว่า “อพฺภากุฏิโก” ว่า –
…………..
อพฺภากุฏิโกติ ยถา เอกจฺเจ ปริสํ ปตฺวา ถทฺธมุขา สงฺกุฏิกมุขา โหนฺติ น เอทิโส. ปริสทสฺสเนน ปนสฺส พาลาตปสมฺผสฺเสน วิย ปทุมํ มุขปทุมํ วิกสติ ปุณฺณจนฺทสสฺสิริกํ วิย โหติ.
คำว่า “อพฺภากุฏิโก” หมายความว่า บางคนเข้าไปยังประชุมที่แล้วมีหน้าเคร่งขรึม มีหน้าขึ้งเครียด พระผู้มีพระภาคมิได้เป็นเช่นนั้น ที่ประชุมจะเห็นพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเหมือนดอกปทุมที่บานด้วยต้องแสงแดดอ่อนๆ ปานประหนึ่งรัศมีแห่งพระจันทร์เต็มดวง
…………..
คำว่า “อัพภากุฏิกะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อภิปราย :
“อัพภากุฏิกะ” เป็นคุณสมบัติในเชิงปฏิเสธ หมายถึงไม่มีลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ เช่นในที่นี้คือ “หน้าไม่รับแขก”
“อัพภากุฏิกะ” แปลว่า “ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด” ก็คือหน้ารับแขก เมื่อพบปะเจอะเจอกับใครก็ไม่ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดเข้าใส่ ตรงกันข้ามกลับมีสีหน้าเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใส ชวนให้แขกสบายใจ มีธุระอะไร-เรื่องดีก็อยากเล่า เรื่องเศร้าก็อยากบอก เพราะมั่นใจว่าพึ่งพาอาศัยได้แน่
คนที่มีลักษณะ “อัพภากุฏิกะ” ดังกล่าวนี้ย่อมเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่ต้อนรับแขกในกิจการทั้งปวงที่ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กับมวลชน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หน้ายิ้ม ได้กำไรไปครึ่งหนึ่ง
: แต่ถ้าใจยักษ์ ก็ขาดทุนไปอีกครึ่งหนึ่ง
#บาลีวันละคำ (2,923)
13-6-63