อวมาน (บาลีวันละคำ 2,507)
อวมาน
ฝากไว้ในอ้อมใจ ภาษาไทยยังไม่มี
ภาษาไทยอ่านว่า อะ-วะ-มาน
บาลีอ่านว่า อะ-วะ-มา-นะ ประกอบด้วย อว + มาน
(๑) “อว”
อ่านว่า อะ-วะ เป็นคำอุปสรรค (prefix) แปลว่า –
(1) ต่ำกว่า, ต่ำ (lower, low)
(2) ลง, ลงต่ำไป, ห่างลงไป, ออกไป (down, downward, away down, off)
“อว” แปลง เป็น “โอ” พบได้ทั่วไปในบาลี หรือจะกล่าวก็ได้ว่า อุปสรรคคำนี้มี 2 รูป เป็น “อว” รูปหนึ่ง เป็น “โอ” อีกรูปหนึ่ง
(๒) “มาน”
บาลีอ่านว่า มา-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มานฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย
: มานฺ + อ = มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ให้เขาบูชา” (คือต้องการให้เขานับถือ)
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้, คิด, เข้าใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ม-(น) เป็น อา (มนฺ > มาน)
: มนฺ + ณ = มนณ > มน > มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สำคัญตนว่าดีกว่าเขาเป็นต้น”
(3) มา (ธาตุ = นับถือ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: มา + ยุ > อน = มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการเป็นเหตุให้เขานับถือตน”
“มาน” (ปุงลิงค์) ในบาลีมีความหมายว่า –
(1) ความถือตัว, ความหยิ่ง, ความยโส (pride, conceit, arrogance)
(2) เกียรติ, การนับถือ (honour, respect)
ในภาษาไทย ใช้เป็น “มาน” และ “มานะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) มาน ๒ : (คำนาม) ความถือตัว; ใจ, ดวงใจ, เช่น ดวงมาน. (ป., ส.).
(2) มานะ ๒ : (คำนาม) ความพยายาม, ความตั้งใจจริง, ความพากเพียร, เช่น มีมานะอดทน มีมานะในการทำงาน; ความถือตัว. (ป.).
อว + มาน = อวมาน (อะ-วะ-มา-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การถือตัวลง” หมายถึง การไม่คำนึงถึง, การไม่แยแส, การไม่เคารพ, การดูแคลน (disregard, disrespect, contempt)
บาลี “อวมาน” สันสกฤตเป็น “อวมาน” และ “อวมานนา” (อะ-วะ-มา-นะ-นา)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อวมาน, อวมานนา : (คำนาม) ความลบหลู่, ความดูหมิ่น; disrespect, contemp.”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มานะ” มีคำอธิบายตอนหนึ่ง ดังนี้ –
…………..
มานะชื่ออื่นที่ควรทราบ คือ … อวมานะ การถือตัวกดเขาลง ซึ่งแสดงออกภายนอก โดยอาการลบหลู่ ไม่ให้เกียรติ ทำให้อับอายขายหน้า ไม่แยแส ไร้อาทร เช่น ผู้มีกำลังอำนาจที่ทำการขู่ตะคอก ลูกที่เมินเฉยต่อพ่อแม่ เป็นคู่ตรงข้ามกับคำในฝ่ายดีคือ สัมมานะ อันได้แก่การนับถือ ยกย่อง ให้เกียรติแก่ผู้มีคุณความดีโดยเหมาะสมอย่างจริงใจ …
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ สะกดคำนี้เป็น “อวมานะ” อ่านว่า อะ-วะ-มา-นะ
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสะกดคำนี้เป็น “อวมาน” อ่านว่า อะ-วะ-มาน ซึ่งในเสียงไทยฟังดูรื่นหูกว่า
แต่ทั้ง “อวมานะ” และ “อวมาน” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ต่อไปนี้เห็นใครแสดงอาการลบหลู่ ไม่ให้เกียรติ ทำให้อับอายขายหน้า ไม่แยแส ไร้อาทร เราก็บอกเขาไปอย่างสุภาพด้วยคำที่ฟังดูรื่นหูว่า – ท่านนี้ไฉนจึงช่างมี “อวมาน” ยิ่งนัก!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การดูถูกคนอื่นไม่ได้ทำให้ตัวเองสูงขึ้น
: การให้เกียรติคนอื่นก็ไม่ได้ทำให้ตัวเองต่ำต้อยลง
#บาลีวันละคำ (2,507)
24-4-62