บาลีวันละคำ

เบญจคัพย์ (บาลีวันละคำ 2,506)

เบญจคัพย์

หรือควรจะเป็น “เบญจคัพภ์

อ่านว่า เบ็น-จะ-คับ

ประกอบด้วยคำว่า เบญจ + คัพย์

(๑) “เบญจ

บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เบญจ-, เบญจะ : (คำวิเศษณ์) ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”

คำว่า “เบญจ” นี้ พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกคำอ่านว่า เบน- แต่พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 แก้ไขคำอ่านเป็น เบ็น-

(๒) “คัพย์

คำนี้ ตรวจดูในพจนานุกรมต่างๆ แล้วยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ คงพบเฉพาะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ที่คำว่า “เบญจคัพย์” แห่งเดียว คำว่า “คัพย์” เดี่ยวๆ ก็ไม่มี

ผู้เขียนบาลีวันละคำยกคำนี้มาจากหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ซึ่งสะกดคำนี้เป็น “พระเต้าเบญจคัพย์

เข้าใจว่า คำว่า “เบญจคัพย์” ที่สะกดอย่างนี้เป็นคำที่เขียนตามคำเก่าซึ่งสะกดตามความเข้าใจเอาเองของผู้เขียน ดังคำว่า “โทรศัพท์” ครั้งหนึ่งนานมาแล้วก็เคยมีผู้สะกดเป็น “โทรศัพย์” ( -ย การันต์) กันแพร่หลาย พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 จึงยังคงสะกดเป็น “เบญจคัพย์” อยู่ และหนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ก็คงสะกดตามพจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 อีกทีหนึ่ง

คำว่า “เบญจคัพย์” พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกไว้ดังนี้ –

เบญจคัพย์ : (คำนาม) เต้านํ้า อยู่ในหมู่ของใช้ในการพระราชพิธี ตามราชประเพณีของไทยใช้สําหรับพระมหากษัตริย์ทรงรับนํ้าอภิเษกหรือใส่นํ้าเทพมนตร์ ซึ่งจะรดถวายให้แก่พระมหากษัตริย์ หรือพระมหากษัตริย์ทรงรดพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งมีพระชนนีเป็นเจ้า, บางแห่งเขียนว่า เบญจครรภ.”

พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกไว้ว่า

เบญจคัพย์ : (คำนาม) 5 ห้อง หมายถึง เต้าน้ำบรรจุน้ำเทพมนตร์ใช้ในการพระราชพิธี, บางแห่งเขียนว่า เบญจครรภ.”

พจนานุกรมฉบับอาจารย์เปลื้อง ณ นคร บอกคำแปลไว้ด้วย “เบญจคัพย์” แปลว่า “5 ห้อง” นั่นคือเข้าใจว่า “คัพย์” ก็คือ “คัพภ์” ที่แปลว่า ห้อง

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ปรับแก้คำนี้ใหม่ โดยสะกดเป็น “เบญจครรภ” และ “เบญจคัพภ์” (พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ไม่มีคำทั้ง 2 นี้) และไม่ได้เก็บคำว่า “เบญจคัพย์” ไว้ พร้อมทั้งปรับแก้คำนิยามใหม่ด้วย เป็นดังนี้ –

เบญจครรภ, เบญจคัพภ์ : (คำนาม) เต้าน้ำ เป็นเครื่องราชูปโภค ตามราชประเพณีของไทยใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงรับนํ้าอภิเษกหรือบรรจุน้ำพระพุทธมนต์หรือน้ำเทพมนตร์.”

ผู้เขียนบาลีวันละคำมีความเห็นว่า คำนี้ควรสะกดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และควรสะกดเป็น “เบญจคัพภ์” เพื่อรักษาเค้ารูป “คัพย์” (ผิด) กับ “คัพภ์” (ถูก) ไว้ เพียงแก้ – การันต์ เป็น – การันต์เท่านั้น

คำว่า “คัพภ์” บาลีเป็น “คพฺภ” อ่านว่า คับ-พะ รากศัพท์มาจาก –

(1) คสฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อภ ปัจจัย, แปลง สฺ เป็น พฺ (คสฺ > คพฺ)

: คสฺ + อภ = คสภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เป็นไปปกติ” (คือมีทั่วไป)

(2) คุ (เสียงดังโครกคราก) + อภ ปัจจัย, ซ้อน พฺ ระหว่างบทหน้ากับปัจจัย (คุ + พฺ + อภ), “ลบสระหน้า” คือ อุ ที่ คุ (คุ > )

: คุ + พฺ + อภ = คุพฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ส่งเสียงดังโครกๆ

(3) คพฺภฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย

: คพฺภฺ + = คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ทรงไว้” (คือรองรับเด็กไว้)

(4) ครฺ (ธาตุ = ไหลไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ เป็น พฺ (ครฺ > คพ)

: ครฺ + = ครฺภ > คพฺภ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไหลออกไปข้างนอก

คพฺภ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ภายใน, โพรง (interior, cavity) = ภายในของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลวงหรือว่าง

(2) ห้องใน, ห้องส่วนตัว, ห้องนอน, กุฏิ (an inner room, private chamber, bedroom , cell) = ห้อง

(3) ความพองขึ้นของมดลูก (ตั้งท้อง), ครรภ์ (the swelling of the (pregnant) womb, the womb) = ตั้งท้อง

(4) สิ่งที่อยู่ในมดลูก, ไข่ที่กลายเป็นตัวอ่อน, ลูกอ่อนในครรภ์ (the contents of the womb, the embryo, foetus) = ลูกในท้อง

ยังคงมีปัญหาว่า “เบญจคัพภ์” หรือ “เบญจครรภ” ที่แปลว่า “5 ห้อง” หมายความว่าอย่างไร “พระเต้าเบญจคัพภ์” แปลว่า “เต้าน้ำ 5 ห้อง” หมายถึงอะไร

ขอฝากท่านผู้รู้และท่านผู้ใฝ่รู้สืบสวนหาความรู้กันต่อไปด้วยเทอญ

…………..

หนังสือ “ประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 หน้า 119 อธิบายเรื่อง “พระเต้าเบญจคัพย์” มีข้อความดังนี้

…………..

พระเต้าเบญจคัพย์ (เบ็น-จะ-คับ)

บางแห่งเขียนว่า “เบญจครรภ” (เบ็น-จะ-คับ) เป็นพระเต้าสำหรับบรรจุน้ำพระพุทธมนต์และน้ำเทพมนตร์ ถวายพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น พระเต้าเบญจคัพย์มีหลายองค์ทำด้วยศิลาสีต่าง ๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าหัวใจยังพร่อง

: ต่อให้มีเงินเต็ม 500 ห้องก็ยังไม่พอ

#บาลีวันละคำ (2,506)

23-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย