การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๑)
การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๑)
————————————
ถ้าจะรักษาพระศาสนา ต้องศึกษาพระธรรมวินัย
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้เห็นมีคนโพสต์เรื่องพระขับรถ แล้วเกิดอุบัติเหตุอย่างร้ายแรง
มีคำถามเกิดขึ้นว่า พระขับรถได้หรือ
มีคำพูดต่อมาว่า ในพระวินัยไม่ได้ห้ามพระขับรถ
แล้วก็มีคำปรารภว่า พระทำอย่างนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับชาวบ้าน
เรื่องนี้บอกให้รู้ว่า เวลานี้ชาววัดและชาวบ้านขาดความรู้ในหลักพระธรรมวินัย
———————-
ศึกษาเหตุการณ์จากพระไตรปิฎก :
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงแล้ว ๓ เดือน พระอรหันตเถระ ๕๐๐ องค์ มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานได้ทำปฐมสังคายนาคือการรวบรวมหลักพระธรรมวินัย
ในที่ประชุมปฐมสังคายนา พระอานนท์แจ้งเรื่องมีพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้
ที่ประชุมเปิดอภิปรายประเด็นที่ว่าข้อไหนคือสิกขาบทเล็กน้อย
ผลการอภิปรายปรากฏว่า ที่ประชุมไม่อาจชี้ขาดได้ที่ว่าข้อไหนคือสิกขาบทเล็กน้อย
พระมหากัสสปะจึงเสนอญัตติให้ที่ประชุมพิจารณา รายละเอียดของญัตติปรากฏในหัวข้อ “ปัญจสติกขันธกะ” คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎก เล่ม ๗ ข้อ ๖๒๑ ดังนี้ –
…………………..
(๑) สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ สนฺตมฺหากํ สิกฺขาปทานิ คิหิคตานิ คิหิโนปิ ชานนฺติ อิทํ โว สมณานํ สกฺยปุตฺติยานํ กปฺปติ อิทํ โว น กปฺปตีติ ฯ สเจ มยํ ขุทฺทานุขุทฺทกานิ สิกฺขาปทานิ สมูหนิสฺสาม ภวิสฺสนฺติ วตฺตาโร ธูมกาลิกํ สมเณน โคตเมน สาวกานํ สิกฺขาปทํ ปญฺญตฺตํ ยาวิเมสํ สตฺถา อฏฺฐาสิ ตาวิเม สิกฺขาปเทสุ สิกฺขึสุ ยโต อิเมสํ สตฺถา ปรินิพฺพุโต นทานีเม สิกฺขาปเทสุ สิกฺขนฺตีติ ฯ
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์ก็มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นกาลชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้
(๒) ยทิ สงฺฆสฺส ปตฺตกลฺลํ สงฺโฆ อปฺปญฺญตฺตํ น ปญฺญาเปยฺย ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉินฺเทยฺย ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺเตยฺย ฯ เอสา ญตฺติ ฯ
ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่พึงถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว นี้เป็นญัตติ
(๓) สุณาตุ เม อาวุโส สงฺโฆ สนฺตมฺหากํ สิกฺขาปทานิ คิหิคตานิ ฯเปฯ นทานีเม สิกฺขาปเทสุ สิกฺขนฺตีติ ฯ
ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์ก็มีอยู่ …. [ข้อความเหมือนในข้อ (๑) จนถึง] ….จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้
(๔) สงฺโฆ อปฺปญฺญตฺตํ น ปญฺญาเปติ ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉินฺทติ ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺตติ ฯ ยสฺสายสฺมโต ขมติ อปฺปญฺญตฺตสฺส อปฺปญฺญาปนา ปญฺญตฺตสฺส อสมุจฺเฉโท ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺตนา โส ตุณฺหสฺส ยสฺส นกฺขมติ โส ภาเสยฺย ฯ
สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด ท่านผู้นั้นพึงพูด
(๕) สงฺโฆ อปฺปญฺญตฺตํ น ปญฺญาเปติ ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉินฺทติ ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺตติ ฯ ขมติ สงฺฆสฺส ตสฺมา ตุณฺหี ฯ เอวเมตํ ธารยามีติ ฯ
สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติ ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว ชอบแก่สงฆ์ เหตุนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้
…………………..
จับประเด็น :
ข้อความในข้อ (๑) เป็นการแถลงเหตุผล ซึ่งสรุปได้ว่า ที่เสนอให้ลงมติไม่ถอนสิกขาบทเล็กน้อย เพราะ –
๑. ชาวบ้านเขารู้กันมากแล้วว่าสิกขาบทของพระมีอะไรบ้าง (พระทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ชาวบ้านรู้)
๒. ถ้าถอน ก็จะเกิดเสียงตำหนิว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทำตามคำสอนเฉพาะเวลาที่พระศาสดายังอยู่ พอพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว ก็เลิก
ความในข้อ (๒) เป็นสาระสำคัญที่เสนอขอให้ลงมติ
ข้อความในข้อ (๓) เป็นการแถลงเหตุผลเหมือนความในข้อ (๑) อีกครั้งหนึ่ง ตามรูปแบบของ “ญัตติทุติยกรรมวาจา” ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะต้องแถลงญัตติ ๒ ครั้ง
ความในข้อ (๔) เป็นการแถลงย้ำสาระสำคัญที่เสนอขอให้ลงมติเหมือนความในข้อ (๒) อีกครั้งหนึ่งตามรูปแบบของการเสนอญัตติ
ความตอนท้ายของข้อ (๔) เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกของที่ประชุมใช้วิจารณญาณได้โดยเสรี กล่าวคือ ถ้าเห็นด้วยก็ขอให้นิ่ง ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ขอให้คัดค้าน
ถ้าเทียบกับการประชุมที่เราคุ้นกัน ความตอนท้ายนี้ก็คือการถามมติจากที่ประชุม หรือขอให้ที่ประชุมลงมตินั่นเอง
ความในข้อ (๕) เป็นการยืนยันมติของที่ประชุมอย่างเป็นทางการ
หลักการของคณะสงฆ์เถรวาทที่ยึดถือกันมาตลอดนับตั้งแต่ปฐมสังคายนาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ไม่ยกเลิกเพิกถอนสิกขาบทใดๆ
และที่สงฆ์คณะนี้ได้ชื่อว่า “เถรวาท” ก็เนื่องมาจากเป็นคณะที่ถือหลักพระธรรมวินัยตามที่ “พระอรหันตเถระ ๕๐๐ องค์” ทำสังคายนาไว้นั่นเอง
———————-
ที่ยกเรื่องนี้มาเล่าไว้ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะให้ศึกษาข้อความท่อนหนึ่งที่ว่า —
…………………..
สนฺตมฺหากํ สิกฺขาปทานิ คิหิคตานิ คิหิโนปิ ชานนฺติ อิทํ โว สมณานํ สกฺยปุตฺติยานํ กปฺปติ อิทํ โว น กปฺปตีติ.
แปลเป็นไทยว่า –
สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์ก็มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร
…………………..
ความข้อนี้ยืนยันว่า สมัยนั้นชาวบ้านรู้จักพระธรรมวินัยคือหลักปฏิบัติของพระสงฆ์เป็นอย่างดี
อะไรพระสงฆ์ทำได้ ชาวบ้านรู้
อะไรพระสงฆ์ทำไม่ได้ ชาวบ้านก็รู้
และการที่ชาวบ้านรู้จักพระธรรมวินัยเป็นอย่างดีนี่เองเป็นเหตุให้พระสงฆ์ยิ่งต้องระมัดระวัง และพากัน “สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว” ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
ในทางกลับกัน ถ้าชาวไม่รู้จักพระธรรมวินัยคือหลักปฏิบัติของพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็จะพากันประพฤตินอกธรรมนอกวินัยได้ตามสบายเพราะชะล่าใจว่าชาวบ้านไม่รู้ว่าพระทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าชาวบ้านจะช่วยกันรักษาพระศาสนา-ในฐานะเป็น ๑ ในบริษัท ๔ ที่ร่วมกันรับผิดชอบต่อพระศาสนา-ก็ต้องช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัยด้วย
อย่าคิดว่าไม่ใช่หน้าที่
อย่าอ้างว่าต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลา
ถ้าคนในชาติบ้านเมืองพากันคิดว่าการป้องกันรักษาประเทศชาติไม่ใช่หน้าที่ของฉัน บ้านเมืองนั้นก็พินาศ ฉันใด
ถ้าคนที่นับถือพระพุทธศาสนาพากันคิดว่าการป้องกันรักษาพระศาสนาไม่ใช่หน้าที่ของฉัน พระศาสนาก็พินาศ ฉันนั้น
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ เมษายน ๒๕๖๒
๑๗:๑๗
ย้อนกลับ บทความเรื่อง การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา