บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๑)

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๖) ตอน -๘-

————————————

มองพระศาสนาให้ตรง ลงมือทำให้ถูก

——————-

-๘-

——————-

ตรงนี้มีประเด็นสำคัญที่ใคร่ขอชวนเชิญให้พิจารณา นั่นคือ อย่างไรที่เรียกว่า “การศึกษา” 

ตามที่เข้าใจกันและกำลังนิยมทำกันทั่วไป กระบวนการศึกษาในปัจจุบันก็คือ – 

๑ ต้องมีสถานที่ เช่นห้องเรียน 

๒ ต้องมีกำหนดเวลาเรียน และ 

๓ ต้องมีกิจกรรมที่ทำในสถานที่และ/หรือในเวลาตามที่กำหนด 

ใครมาเข้าห้องเรียนตามเวลาที่กำหนด และทำกิจกรรมตามที่กำหนด (เช่น ฟัง พูด เขียน ทำ ตามกรอบขอบเขตเนื้อหาของวิชาที่กำหนด) ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด ก็ถือว่าได้รับการศึกษาและได้ใบรับรองว่าจบการศึกษา 

ขอให้สังเกตว่า ทุกวันนี้เรายึดถือกรอบการศึกษาแบบนี้กันทั่วไป 

ครูอาจารย์บอก/บรรยายเนื้อหาวิชาการตามที่รับผิดชอบเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น 

นักเรียนนักศึกษาก้าวออกจากห้องเรียนแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หมดความรับผิดชอบ หมดความเกี่ยวข้องกัน ใครจะไปทำอะไรอย่างไรถือว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว” อยู่นอกกรอบขอบเขตของการศึกษา 

และแม้แต่ให้ห้องเรียนนั่นเอง นักเรียนนักศึกษาก็มีอิสระเสรีที่จะทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ยังไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้หลวมๆ (เช่นต้องแต่งกายอย่างไรเป็นต้น)

จะเห็นได้ว่า “การศึกษา” ตามความหมายที่เข้าใจและปฏิบัติกันในทุกวันนี้แยกออกมาจากชีวิตจริง 

ชีวิตจริง คือ“เรื่องส่วนตัว” เราบอกกันว่าเป็นของใครของมัน เราต้องเคารพเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น อย่าไปก้าวก่าย 

และที่สำคัญ เรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับการศึกษา 

การศึกษาอยู่ในห้องเรียน ตามเวลาที่กำหนด ตามกิจกรรมที่กำหนดเท่านั้น 

ครูบาอาจารย์มีสิทธิ์เกี่ยวข้องได้เฉพาะตามกรอบนั้นเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์มายุ่งเรื่องส่วนตัว

ถ้าสมมุติว่า ๒๔ ชั่วโมงในแต่ละวันคือเวลาเต็มของชีวิตจริง 

เราจัดการศึกษาให้กันวันละ ๘ ชั่วโมง 

นั่นคือเวลาที่ชีวิตจริงได้รับการศึกษาตามกระบวนการที่จัดขึ้น-ซึ่งมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้รู้เข้าใจ “วิทยาการบางอย่าง” เท่านั้น 

อีก ๑๖ ชั่วโมงเป็นชีวิตจริงที่ไม่ได้รับการศึกษาใดๆ 

ใครจะทำดีทำชั่ว พูดดีพูดชั่ว คิดดีคิดชั่ว ซึ่งเป็นของจริงในชีวิตจริง เราบอกกันว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ต้องปล่อยให้เขาทำพูดคิดไปให้เต็มที่ คนอื่นไม่มีสิทธิ์ไปยุ่งด้วย

ได้ทราบว่า แนวคิดและท่าทีแบบนี้กำลังคืบคลานเข้าไปในวัดแล้ว 

นั่นคือ ภายในวัด พระภิกษุสามเณรแต่ละรูปจะทำอะไร กำลังนิยมอ้างว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว” เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะผู้ปกครองไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งอะไรด้วย

นี่คือระบบการศึกษาที่เรากำลังจัดให้กัน-และมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็กำลังจัดการศึกษาด้วยวิธีการแบบเดียวกันนี้

อาจจะมีข้อแตกต่างจากสถาบันการศึกษาทั่วไปอยู่บ้างตรงที่-หลายๆ หลักสูตรมีชั่วโมงปฏิบัติธรรมที่กำหนดไว้ว่านักศึกษาต้องผ่านกิจกรรมนี้จึงจะถือว่าผ่านการศึกษา 

แต่ข้อเท็จจริงที่ต้องไม่ลืมก็คือ นั่นเป็นเพียง “กิจกรรมตามหลักสูตร” เท่านั้น

ถ้าตั้งเกณฑ์ว่า-จัดเป็นกิจกรรม>ทำเป็นกิจวัตร>พัฒนาเป็นวิถีชีวิต เป็นเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาในพระพุทธศาสนา 

การปฏิบัติธรรมตามหลักสูตรก็อยู่ในขั้น “กิจกรรม” เท่านั้น 

ยังไม่ถึงขั้นเป็น “กิจวัตร” ด้วยซ้ำ ไม่ต้องกล่าวว่าจะไปถึงขั้น “วิถีชีวิต” ได้หรือไม่ 

และแทบทั้งหมด เมื่อจบหลักสูตรแล้วหรือจบการศึกษาแล้วก็จบการปฏิบัติธรรมไปด้วย 

หรือหากจะมีใครสมัครใจทำสืบต่อมา นั่นก็เป็น “ผลพลอยได้” หาใช่เป้าหมายที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้ไม่-ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 

โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า การศึกษาแบบที่ว่ามานี้ ไม่ใช่ “การศึกษา” ตามความหมายของพระพุทธศาสนา 

การศึกษาตามความหมายของพระพุทธศาสนามุ่งจัดการที่ “เรื่องส่วนตัว” หรือชีวิตจริงของแต่ละคนนั่นเลยทีเดียว 

การศึกษาตามความหมายของพระพุทธศาสนาไม่ปล่อยให้ใครอ้างได้เลยว่า เรื่องส่วนตัวของข้าใครอย่าแตะ ตรงกันข้าม ผู้ที่จะได้รับการศึกษาตามแบบของพระพุทธศาสนาจะต้องถูก “แตะ” เรื่องส่วนตัวเป็นเป้าหมายใหญ่และเป้าหมายแรกเลยทีเดียว 

การทำ พูด คิด ทุกเวลาทุกขณะจิตจะต้องถูกตรวจสอบ ถูกฝึก ถูกขัดเกลา ถูกอบรมบ่มเพาะให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องอย่างมั่นคงและยั่งยืน จนไม่เหลือ “ตัว” หรือ “เรื่องส่วนตัว” อะไรที่จะยกขึ้นมาอ้างได้อีกต่อไป และนั่นคือผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว-ตามมาตรฐานของพระพุทธศาสนา

ลองพิจารณาดูเถิดว่า ที่เราจัดการศึกษากันอยู่ในทุกวันนี้-โดยเฉพาะที่จัดกันอยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์- ถูกต้องแล้วหรือไม่

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๒

๑๓:๓๓ 

—————

(อ่านต่อตอน -๙-)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *