ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑)
ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๘)
————————-
(๗) เรียงคำผิดที่
ปัญหานี้ ผมนึกได้เพียงตัวอย่างเดียว คือคำว่า
บวรพระพุทธศาสนา
อ่านว่า บอ – วอน – พระ – พุด – ทะ – สาด – สะ – หนา
บวรพระพุทธศาสนา – เป็นคำที่เรียงคำผิดที่
เดี๋ยวนี้ได้ยินพูดและได้เห็นเขียนแบบนี้กันมาก
คำที่ใช้กันมา และเรียงคำได้ถูกต้องอยู่แล้ว คือ
พระบวรพุทธศาสนา
อ่านว่า พระ – บอ – วอ – ระ – พุด – ทะ – สาด – สะ – หนา
คำนี้เดิมน่าจะมีเพียง “พระพุทธศาสนา” เท่านั้น แต่ผู้พูดต้องการจะขยาย “พุทธศาสนา” ให้มีความหมายเด่นดียิ่งขึ้น จึงเพิ่มคำว่า “บวร” ซึ่งแปลว่า “ประเสริฐ, ล้ำเลิศ” เข้าข้างหน้าเป็น “พระบวรพุทธศาสนา”
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องอ่านตามหลักการอ่านคำสมาส คือ
“บวร” โดดๆ อ่านว่า บอ – วอน
แต่เมื่อสมาสกับคำหลังคือ “-พุทธ” จะอ่านว่า บอ – วอน – พุด ก็ผิดหลักการอ่านคำสมาส
จะอ่านว่า บอ – วอน – ระ – พุด ก็ไม่สะดวกลิ้น (ลองอ่านดู จะรู้ว่าจริง)
ท่านจึงให้อ่าน -วร- ครึ่งเสียงของ วอน คือ วอ-
และไม่ให้ ร เรือ เป็นตัวสะกด แต่ให้ออกเสียงเรียงพยางค์ปกติ คือ “ระ”
“บวร” จากเดิมที่อ่านว่า “บอ – วอน” จึงกลายเป็น “บอ – วอ – ระ”
เข้าใจว่า ตรงพยางค์ว่า “บอ – วอ – ระ – พุด” (บวรพุทธ) นั่นเองที่มีคนได้ยินแล้วเข้าใจไปว่าเป็น “บอ – วอน – พระ – พุด” (บวรพระพุทธ)
เพราะ “บวรพระพุทธ” นั้น “บวร” ก็คุ้นตา “พระพุทธ” ก็คุ้นปาก
แต่ “บวรพุทธ” อย่างนี้ นึกไม่ออก บอกไม่เป็น เห็นไม่ได้ ว่าจะต้องอ่านว่า “บอ – วอ – ระ – พุด”
และถ้าให้อ่านแบบไม่คิดอะไรเลย เป็นต้องอ่านว่า “บอ – วอน – พุด” ทันที
สรุปว่า “บวรพุทธ” คนที่อ่านเป็น เขาอ่านถูกแล้วว่า “บอ – วอ – ระ – พุด”
แต่คนที่ฟังไม่เป็น ไปเข้าใจเสียว่า “บอ – วอน – พระ – พุด”
“พระบวรพุทธศาสนา” จึงผันแปรผิดเพี้ยนไปเป็น “บวรพระพุทธศาสนา”
และทำท่าว่าจะติดตลาด คือเป็นคำผิดที่จะกลายเป็นคำถูกไปอีกคำหนึ่งในอนาคตอันไม่ไกลนี้
เห็นหรือไม่ว่า เพราะไม่เรียน ไม่สังเกต จึงไม่รู้
และความไม่รู้หลักภาษาทำให้เกิดไฝฝ้าขึ้นในภาษาได้อย่างไร
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๔
๑๑:๒๑
………………………………
ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๙)
………………………………
ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๗)
………………………………