บาลีวันละคำ

อิติวุตตกะ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,416)

อิติวุตตกะ-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

เล่ากันมาว่าดังนี้

อ่านว่า อิ-ติ-วุด-ตะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า อิติ + วุตตกะ 

(๑) “อิติ” 

อ่านว่า อิ-ติ เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม 

ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย

: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป” 

ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –

(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้ 

(2) ว่าดังนี้ 

(3) ด้วยประการนี้ 

(4) ชื่อ 

(5) คือว่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –

(1) “thus” (เช่นนั้น) 

(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้) 

(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ) 

(๒) “วุตตกะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “วุตฺตก” (มีจุดใต้ ตฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วุด-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = บอก, กล่าว) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(จฺ) เป็น อุ แล้วแปลง เป็น (วจฺ > วุจ > วุต) + ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ก-สกรรถ” (กะ-สะ-กัด) คือลง ข้างท้าย แต่มีความหมายเท่าเดิม

: วจฺ + = วจต > วุจฺต > วุตฺต + = วุตฺตก (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “(คำ) อันเขากล่าวแล้ว” หมายถึง (คำที่) กล่าว (said)

อิติ + วุตฺตก = อิติวุตฺตก (อิ-ติ-วุด-ตะ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “คำอันกล่าวกันมาว่าดังนี้” หมายถึง สิ่งหรือเรื่องที่ได้มีผู้พูดไว้ (what has been said, saying) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “อิติวุตฺตก” ว่า –

“so it has been said”, (book of) quotations, “Logia”, N. of the fourth book of the Khuddaka-nikāya, named thus because every sutta begins with vuttaŋ h’ etaŋ Bhagavatā “thus has the Buddha said.”

“ได้กล่าวกันมาดังนั้น”, (คัมภีร์ว่าด้วย) คำพูดที่ควรยกมาอ้าง, “Logia = การกล่าวถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวบรวมเอาข้อธรรมที่มีเหตุผลของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ยุคต้น ๆ”, ชื่อคัมภีร์ที่ 4 แห่งขุทกนิกาย, ที่ได้ชื่อเช่นนั้น เพราะว่าทุก ๆ สูตรเริ่มต้นด้วยคำว่า วุตฺตํ เหตํ ภควตา “สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้” 

อิติวุตฺตก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อิติวุตตกะ” เคยเห็นคำเก่าสะกดเป็น “อิติวุตดก” อ่านว่า อิ-ติ-วุด-ดก ก็มี

…………..

ขยายความ :

อิติวุตตกะ” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย) 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อิติวุตดกะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

อิติวุตตกะ : พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วยคำว่า เอวมฺเม สุตํ แต่ขึ้นต้นด้วย “วุตฺตํ เหตํ ภควตา, วุตฺตมรหตาติ เม สุตํ” แล้วเชื่อมความเข้าสู่คาถาสรุปท้าย ด้วยคำว่า อิติ วุจฺจติ รวม ๑๑๒ สูตร จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๔ แห่งขุททกนิกาย. 

…………..

ไขศัพท์:

“วุตฺตํ เหตํ ภควตา” แปลว่า จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว 

“วุตฺตมรหตาติ เม สุตํ” แปลว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสไว้แล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงได้สดับมาว่า …

…………..

ดูก่อนภราดา!

คำที่ท่านกล่าวกันมา –

: ไม่เชื่อไม่ว่า แต่อย่าลบหลู่

: ไม่นับถือไม่ว่า แต่อย่าดูแคลน

#บาลีวันละคำ (3,416)

19-10-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *