อย่าให้เหลือแต่ซาก
อย่าให้เหลือแต่ซาก
———————
อีก ๓ วันก็จะถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
ขึ้นต้นอย่างนี้คนสมัยใหม่คงไม่รู้สึกอะไร
แต่ถ้าพูดใหม่ว่า อีก ๓ วันก็จะถึงวันลอยกระทง – อย่างนี้ค่อยน่าสนใจขึ้นมาหน่อย
คนสมัยใหม่สนใจแต่เพียงคำว่า “วันลอยกระทง”
แต่คำว่า “ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒” นั้นแทบจะไม่รับรู้อะไรด้วย
ถ้าพูดตามปฏิทิน ก็จะพูดกันว่า ปีนี้วันที่ ๒๒ พฤศจิกายนเป็นวันลอยกระทง
แต่ถามว่า-ทำไมต้องวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน
ไม่รู้ อย่าถาม รำคาญ
คนสมัยใหม่จะพูดว่า ปีนี้ “วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ตรงกับวันลอยกระทง”
ความจริงแล้วควรจะพูดว่า ปีนี้ “วันลอยกระทงตรงกับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน” คือเอา “วันหลัก” ขึ้นก่อน
เพราะวันหลักหรือคำหลักคือ “วันลอยกระทง” ไม่ใช่ “วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน”
วันลอยกระทงนั้นกำหนดตามวันทางจันทรคติ คือขึ้น-แรม
วันลอยกระทง โบราณท่านกำหนดให้ทำกันในวัน “ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒”
“ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒” ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน แต่ปีหน้าหรือปีต่อๆ ไปจะตรงกับวันที่เท่าไรเดือนอะไรก็ว่ากันเป็นปีๆ ไป
เวลาพูดจึงต้องเอา “ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒” เป็นหลัก ไม่ใช่ยกเอาวันที่เท่านั้นเดือนนั้นขึ้นเป็นหลัก
บางท่านอาจคิดว่า-แค่คำพูดเท่านี้ ทำเป็นเรื่องใหญ่ไปได้
แต่แค่คำพูดนี้นี่แหละที่บอกเราได้ว่าใครให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน
“ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒” นอกจากเป็นวันลอยกระทงแล้ว ยังเป็นวันสุดท้ายของเขตกฐินกาลอีกด้วย-คือทอดกฐินวันนั้นได้เป็นวันสุดท้ายของปี
จำคู่กันไปด้วยเลยก็น่าจะดี-วันลอยกระทงคือวันสุดท้ายของการทอดกฐิน
นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนมากไม่ได้นึก และไม่รับรู้ด้วย
น่าตลกมากที่สังคมไทยยกเอาบุญกฐินขึ้นมาเชิดชูกันเป็นการเอิกเกริก แต่เราแทบจะไม่มีความรู้และไม่ได้สนใจหลักเกณฑ์-หลักการของบุญกฐินกันเลย
แม้แต่ประเพณีลอยกระทงนั่นเองเราก็แทบจะไม่มีความรู้และไม่ได้สนใจที่จะหาความรู้อะไรด้วย
เราใช้วันลอยกระทงเป็นวันเสพสุขกันอีกวันหนึ่งเท่านั้น
ขอประทานโทษ-เสพสุขบนซากของประเพณีด้วยซ้ำไป
ที่เรียกว่า “ซาก” ก็เพราะเราไม่ได้ศึกษา-สั่งสอนคนของเราให้มีความรู้เกี่ยวกับประเพณีนี้แต่อย่างใดทั้งสิ้น
วิธีที่จะรักษาประเพณีลอยกระทงไว้ให้อย่างถูกต้องก็คือ สั่งสอนคนของเราให้เห็นสาระของประเพณีลอยกระทง
เราพูดกันลอยๆ ว่า ลอยกระทงบูชารอยพระพุทธบาทที่หาดทรายแม่น้ำนัมทา
หรืออีกแนวหนึ่งก็ว่าลอยกระทงเพื่อขอขมาแม่คงคาที่เราอาศัยอาบกินถ่ายเทของเสียลงไป อันเป็นการล่วงเกินมาในรอบปี
ทางหนึ่งให้เห็นความสำคัญของพระศาสนา
อีกทางหนึ่งให้เห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำ
ผมว่านี่เรามีทุนดีมากๆ ทีเดียว
แต่เราใช้ทุนนี้ไม่เป็น
เวลานี้เราได้ประโยชน์จากการลอยกระทงเพียงแค่ความสวยงามและความสนุกเท่านั้น
แล้วก็ได้เสพสุขกันแค่คืนเดียว
พอรุ่งขึ้นก็เหลือแต่ซาก
ครับ – ซากกระทง
เพิ่มขยะให้แม่น้ำลำคลองหนักเข้าไปอีก
และซากประเพณีลอยกระทง ที่จะไม่มีใครนึกถึงจนกว่าจะถึงวันลอยกระทงปีต่อไป
เรื่องลอยกระทงบูชารอยพระพุทธบาทนั้น ก็ว่ากันไปแบบมัวๆ
รอยพระบาทคืออะไร มีกำเนิดมาอย่างไร ไม่รู้
แม่น้ำนัมทาอยู่ที่ไหน ก็ไม่รู้
ร้อยวันพันปีไม่เคยไหว้พระบาท รอมาไหว้วันลอยกระทงอย่างเลือนราง
หลังวันลอยกระทงก็ไม่ได้นึกอะไรอีก
มีค่าเท่ากับสูญ
จะได้บ้างก็สักชั่วอึดใจเดียวสำหรับคนที่ตั้งกุศลจิตตอนลอยกระทง
แต่เชื่อได้เลยว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้ง
ถ้าจะตั้ง ก็คงตั้งความปรารถนาขอให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ โดยที่ส่วนมากก็ยังไม่ได้ทำความดีอะไรสักอย่างพอจะเป็นปัจจัยให้เอามาตั้งความปรารถนาได้
บุญหรือความดีเหมือนเงิน
ตั้งความปรารถนาเหมือนซื้อของ
ยังไม่ได้ทำงานหาเงินสักบาท แต่จะซื้อของแล้ว
เป็นอันว่า ไม่ว่าจะในแง่พระศาสนา หรือในแง่สิ่งแวดล้อมที่เป็นสาระของประเพณีลอยกระทง เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
ได้แต่พูดกันว่าเป็นการอนุรักษ์ประเพณี
ได้แต่ความสุขสนุกชั่วข้ามคืน
เหมือนคนมีของดี แต่ใช้ไม่เป็น
ความสวยงามและความสนุก ก็จำเป็นสำหรับชีวิตนะครับ ไม่ใช่ว่าไม่ดี
แต่เราควรได้มากกว่านั้น
ในเมื่อต้นกำเนิดของการลอยกระทงมีมาจากสิ่งที่เป็นสาระ เราก็ควรจับสาระให้ได้มากที่สุด และดำรงสาระนั้นไว้ให้ยั่งยืน
———————
ผมขอเสนอแบบคนฝันเฟื่องครับ
ทำไม่ได้ หรือไม่คิดจะทำ ก็ไม่เป็นไร แค่มีคนเกิดความคิดตามไปก็พอใจแล้ว
ผมขอเสนอให้ผู้นำในสังคมคิดและทำดังต่อไปนี้ครับ
๑ ทำโครงการศึกษาสืบค้นเหตุการณ์-สถานที่เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาท แม่น้ำนัมทา เช่น
– พระพุทธบาทในโลกนี้มีอยู่ที่ไหนบ้าง แต่ละแห่งมีลักษณะและสภาพเป็นอย่างไร
– แม่น้ำนัมทาอยู่ที่ไหน ในอดีตมีสภาพเช่นไร ปัจจุบันสถานที่นั้นอยู่ตรงไหน มีสภาพเช่นไร สืบคนกันให้ละเอียดชนิดที่ว่าชาวโลกอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำนัมทาต้องมาหาที่ประเทศไทยก่อนแล้วจึงจะไปอินเดีย
นี่เพียง “เป็นต้น” นะครับ ส่วนเป็นกลาง เป็นปลาย จะมีหัวข้ออะไรอีก ก็คิดกันขึ้นมา
ทุกหัวข้อทำเป็นงานวิจัย มีทุนให้ มีกรรมการตรวจ ให้รางวัลงานวิจัยที่มีคุณภาพ จัดพิธีมอบรางวัลในวันลอยกระทง งานวิจัยทั้งหมดเก็บรวบรวมไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
๒ สร้างแม่น้ำนัมทาจำลองขึ้นในประเทศไทย หาทำเลที่เป็นหาดทราย สร้างรอยพระพุทธบาท ประกาศให้เป็นหาดทรายนัมทาแห่งประเทศไทย ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว แบบเดียวกับวัดสังกัสสะรัตนคีรีที่จังหวัดอุทัยธานี หรือเขาคิชฌกูฏที่จังหวัดจันทบุรี
ถึงเทศกาลลอยกระทงจะแห่กันไปลอยที่นั่น หรือลอยที่ไหนก็ตั้งกุศลจิตมุ่งไปที่นั่น แม้ไม่ใช่สถานที่จริง แต่ก็เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น
๓ โครงการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เช่น
– ศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ไขคลองที่น้ำเน่าเสีย เช่นคลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ ว่ามีทางที่จะทำให้เป็นคลองน้ำสะอาดได้อย่างไร ถ้าแก้ไขได้ ก็เสนอวิธีที่เป็นไปได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็วิจัยสาเหตุออกมาให้ชัดเจน เพื่อเป็นความรู้ ให้รางวัลงานวิจัยที่ดีเด่น จัดพิธีมอบรางวัลในวันลอยกระทง
– ทำโครงการพัฒนาแม่น้ำลำคลองที่น้ำเน่าเสียให้เป็นแม่น้ำลำคลองใสสะอาด เช่น “โครงการทำคลองแสนแสบให้น้ำใส เตรียมไว้ลอยกระทง” อะไรประมาณนี้ แล้วไปลอยกระทงกันที่คลองนั้น
จะมีหัวข้ออะไรอีก ก็คิดกันขึ้นมา
๔ นางนพมาศ
นิยมประกวดกันทั้งประเทศ ได้คนงามมาจำนวนมาก เสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่านางนพมาศทั้งหลายไปทำอะไรกันบ้าง จึงน่าจะ
– จัดตั้ง “สมาคมนางนพมาศ” ร่วมกันทำกิจกรรมที่เป็นสาระ หรือแสดงความรู้ความสามารถที่ถนัดเพื่อประโยชน์แก่สังคม
– กิจกรรมที่ดีเด่น ความสามารถที่โดดเด่น โดยเฉพาะงานเกี่ยวกับพัฒนาแหล่งน้ำ ก็ให้ได้รับรางวัลประจำปี จัดพิธีมอบรางวัลในวันลอยกระทง
ผมคิดคร่าวๆ ได้แบบนี้แหละครับ
ใครจะขำกลิ้งว่า “ว่างงานหรือคุณลุง” ก็ไม่ว่าอะไรเลยครับ
หลักการก็คือให้มีการทำงานอันมีรากเหง้ามาจากประเพณีลอยกระทงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี วันลอยกระทงเป็นวันฉลองความสำเร็จของงาน
ความสวยงามและความสนุกจากงานลอยกระทงก็ยังมี อนุรักษ์ประเพณีก็ยังทำกันไปเหมือนเดิม แล้วเสริมด้วยสาระที่ยั่งยืนนี่เข้าไป
ไม่ใช่สนุกสนานกันคืนเดียวแล้วก็ลืมกันไปทั้งปี
สนุกกันสุดๆ คืนเดียว รุ่งขึ้นเหลือแต่ซาก
น่าเสียดายนะครับ
ประเพณีที่โด่งดังไปทั่วโลก
เหลือแต่ซากเพียงชั่วข้ามคืน
————–
เหมือนเสพสุขเสร็จก็ถีบส่ง
ทิ้งเศษซากกระทงไว้เต็มถาน
แอบสะอื้นอายโอ้อกโบราณ
ลูกหลานวานช่วยเช็ดน้ำตา
…………………..
เนื้อหาส่วนใหญ่โพสต์แล้วเมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
…………………..
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
๑๐:๔๓