พก-พรหม (บาลีวันละคำ 2,349)
พก-พรหม
ไม่ใช่ ผกาพรหม
อ่านว่า พะ-กะ-พฺรม
“พก-พรหม” หมายถึงพรหมชื่อ “พกะ” อันมีปรากฏอยู่ในพุทธชัยมงคลคาถา (คาถาพาหุง) บทที่ 8
ข้อความเต็มๆ ในบทนี้เป็นดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
ทุคฺคาหทิฏฺฐิภุชเคน สุทฏฺฐหตฺถํ
พฺรหฺมํ วิสุทฺธิชุติมิทฺธิพกาภิธานํ
ญาณาคเทน วิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ.
เขียนแบบคำอ่าน :
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พ๎รัห๎มัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ.
คำแปล :
พระจอมมุนีได้ชนะพรหมผู้มีนามว่าพกะผู้มีฤทธิ์
สำคัญตนว่ารุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์
มีมืออันท้าวภุชงค์คือทิฐิที่ตนถือผิดรัดรึงไว้แน่นแฟ้นแล้ว
ด้วยวิธีวางยาอันพิเศษ คือเทศนาญาณ
ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน.
…………..
ขยายความ :
คำว่า “พกาภิธานํ” (พะกาภิธานัง) ในวรรคที่สองในพุทธชัยมงคลคาถาบทนี้แยกศัพท์เป็น พก + อภิธานํ
(๑) “พก”
บาลีอ่านว่า พะ-กะ รากศัพท์มาจาก วกฺ (ธาตุ = ถือเอา) + อ ปัจจัย, แปลง ว เป็น พ
: วกฺ + อ = วก > พก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “นกที่ยึดที่หากิน”
คำว่า “พก” นี้นักเรียนบาลีท่องจำกันมาตั้งเรียนไวยากรณ์ว่า “พก = นกยาง”
“พก” ออกเสียงแบบบาลีว่า พะ-กะ แต่บางคนเวลาท่องออกเสียงว่า พก (เหมือนคำไทยเช่น ชก รก) เพื่อให้คล้องจองกับคำว่า “นกยาง” เป็น “พก นกยาง” ทำให้จำง่ายขึ้นด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พก” ว่า a crane, heron (นกกระเรียน, นกยาง, นกกระสา)
นอกจากนี้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ยังบอกด้วยว่า “พก” เป็นชื่อของผู้อาศัยอยู่ในพรหมโลก (a name of a dweller in the Brahma world) ซึ่งก็คือ “พก-พรหม” ที่กำลังพูดถึงนี่เอง
(๒) “อภิธานํ”
รูปคำเดิมเป็น “อภิธาน” อ่านว่า อะ-พิ-ทา-นะ ถ้าแยกศัพท์เท่าที่ตาเห็น จะเป็น อภิ + ธาน
(ก) “อภิ” (อะ-พิ) เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)
(ข) “ธาน” (ทา-นะ) รากศัพท์มาจาก ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น “อน” (อะ-นะ)
: ธา + ยุ > อน = ธาน แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้”
“ธาน” ใช้เป็นนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ภาชนะที่รองรับ, กระปุก (a receptacle) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ทรงไว้, ถือไว้, บรรจุไว้ (holding, containing)
แต่ในที่นี้ อภิ + ธาน = อภิธาน เป็นคำนามอีกคำหนึ่งโดยเฉพาะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, เหนือ) + ธา (ธาตุ = กล่าว, พูด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อภิ + ธา = อภิธา + ยุ > อน = อภิธาน แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาใช้เรียก” หมายถึง ชื่อ; ภาษา; การพูด; ศัพท์แปล (a name; speech; speaking; a vocabulary or dictionary)
ในที่นี้ “อภิธาน” หมายถึง ชื่อ (a name)
พก + อภิธาน = พกาภิธาน แปลว่า “(พรหม) ชื่อพกะ”
อภิปราย :
คำว่า “พก-พรหม” นี้ คนส่วนมากออกเสียงว่า “พกา-พรหม” และมีไม่น้อยที่ออกเสียง พะ เป็น ผะ แล้วเลยเขียนเป็น “ผกา-พรหม” ไปเลยก็มี
ชื่อพรหมองค์นี้ออกเสียงว่า พะ–กะ ไม่ใช่ พะ–กา– ยิ่งเป็น ผกา– ด้วยแล้วยิ่งห่างชื่อเดิมไปไกล
ที่ในบทพุทธชัยมงคลคาถาเป็น “พกาภิธานํ” (พะกาภิธานัง) นั้น เพราะ “พก” สนธิกับ “อภิธาน” ต้องทีฆะ อ– (อะ) ที่ “อภิธาน” เป็น อา– ตามกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ “พก” จึงเป็น “พกา–ภิธาน” แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนชื่อ “พก” เป็น “พกา” หรือ “ผกา” แต่อย่างใดทั้งสิ้น
คำว่า “พก” เขียนเป็นอักษรโรมันสะกดเป็น Baka (B = พ)
โปรดดูภาพประกอบซึ่งถ่ายมาจาก DICTIONARY OF PĀLI PROPER NAMES สะกดคำนี้เป็น Baka (พะกะ = พก) ทั้งนั้น ไม่มีเป็น Bakā (พะกา = พกา) เลย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ความไม่รู้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ
: แต่ความไม่ใฝ่รู้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ
#บาลีวันละคำ (2,349)
17-11-61