ปิสุณาวาจา (บาลีวันละคำ 3,435)
ปิสุณาวาจา
อย่าใช้เป็นกีฬาทำให้คนชนกัน
อ่านว่า ปิ-สุ-นา-วา-จา
ประกอบด้วยคำว่า ปิสุณา + วาจา
(๑) “ปิสุณา”
อ่านว่า ปิ-สุ-นา รากศัพท์มาจาก
(1) ปิ (ตัดมาจาก “ปิย” = ความรัก) + สุ (ตัดมาจาก “สุญฺญ” = ความสูญเสีย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปิ + สุ = ปิสุ + ยุ > อน = ปิสุน > ปิสุณ + อา = ปิสุณา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาเป็นเหตุก่อทั้งความรักและความสูญเสีย” (คือทำให้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์รัก และทำให้คนสองฝ่ายเสียไมตรีต่อกัน)
(2) ปิสฺ (ธาตุ = บด, ทำให้แหลก) + อุน ปัจจัย, แปลง น เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ปิสฺ + อุน = ปิสุน > ปิสุณ + อา = ปิสุณา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาที่บดผู้พร้อมเพรียงกันให้แตกเป็นพวก”
นักเรียนบาลีนิยมแปล “ปิสุณา” ว่า “คำส่อเสียด” หมายถึง อาการที่พูดยุยงให้ผู้อื่นแตกแยกกัน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปิสุณา” ว่า back- biting, calumnious, malicious (นินทาลับหลัง, ส่อเสียด, หมิ่นประมาท, ริษยา)
(๒) “วาจา”
รากศัพท์มาจาก วจฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(จฺ) เป็น อา ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วจฺ > วาจ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตฺถีลิงค์
: วจฺ + ณ = วจณ > วจ > วาจ + อา = วาจา แปลตามศัพท์ว่า “คำอันเขาพูด” หมายถึง คำพูด การกล่าว, การพูด, วาจา (word, saying, speech)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วาจา : (คำนาม) ถ้อยคํา, คํากล่าว, คําพูด, เช่น วาจาสุภาพ วาจาอ่อนหวาน วาจาสัตย์. (ป., ส.).”
ปิสุณา + วาจา = ปิสุณาวาจา แปลว่า “วาจาส่อเสียด”
คำนี้เป็น “ปิสุณวาจา” ก็มี
คำว่า “ปิสุณ” “ปิสุณวาจา” หรือ “ปิสุณาวาจา” ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
“ปิสุณาวาจา” เป็นอกุศลกรรมบถ (ทางแห่งอกุศลกรรม, ทางมาแห่งความชั่ว) ในส่วนที่เป็น “วจีกรรม” คือทำด้วยวาจา ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน หรือการสื่อสารโดยช่องทางหรือวิธีการใดๆ ก็ตาม
อกุศลกรรมบถทางวจีกรรมมี 4 อย่าง คือ –
(1) มุสาวาท: การพูดเท็จ (false speech)
(2) ปิสุณาวาจา: วาจาส่อเสียด (tale-bearing; malicious speech)
(3) ผรุสวาจา: วาจาหยาบ (harsh speech)
(4) สัมผัปปลาปะ: คำพูดเพ้อเจ้อ (frivolous talk; vain talk; gossip)
…………..
เกณฑ์ตัดสินว่า การส่อเสียดนั้นสำเร็จ มีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ –
(1) ภินฺทิตพฺโพ ปโร = มีตัวบุคคลที่ผู้ส่อเสียดประสงค์จะให้แตกกัน
(2) เภทปุเรกฺขารตา วา ปิยกมฺยตา วา = มีเจตนาจะให้เขาแตกกันก็ตาม มีเจตนาจะให้คนถูกใจการกระทำของตนก็ตาม
(3) ตชฺโช วายาโม = ลงมือกระทำ
(4) ตทตฺถวิชานนํ = มีผู้รับรู้และเข้าใจวิธีที่กระทำนั้นสมตามเจตนา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วิธีง่ายๆ ที่จะทำความดี –
: คืออย่าทำให้คนที่ควรจะสมัครสมานสามัคคีต้องมาแตกคอกัน
#บาลีวันละคำ (3,435)
7-11-64
…………………………….