บาลีวันละคำ

จราจร (บาลีวันละคำ 284)

จราจร

(บาลีไทย)

อ่านว่า จะ-รา-จอน

จราจร” ตามรูปศัพท์ ประกอบด้วย จร + อาจร = จราจร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “จราจร” ไว้ว่า “การที่ยวดยานพาหนะ คน หรือ สัตว์พาหนะเคลื่อนไปมาตามทาง”

คำว่า “เคลื่อนไปมา” ส่องเจตนาว่า “จร” ให้หมายถึง “ไป” และ “อาจร” ให้หมายถึง “มา” ทำนองเดียวกับ คมน = ไป, อาคม = มา : คมนาคม = การไปมา

ในภาษาบาลี “จร” (จะ-ระ) แปลว่า การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, คนท่องเที่ยว, จารบุรุษ, คนสอดแนม

อาจร” (อา-จะ-ระ, คำกริยาเป็น อาจรติ) แปลว่า ประพฤติ, ปฏิบัติ, กระทำ, ซ่องเสพ, เหยียบ, ผ่านไป

จะเห็นได้ว่า “จร” แปลว่า “ไป” แต่ “อาจร” ไม่ได้แปลว่า “มา

และในคัมภีร์ก็ไม่พบคำว่า “จราจร” ตรงๆ

จราจร” ผู้รู้ท่านว่าตรงกับคำอังกฤษว่า traffic

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล traffic ว่า “คมนาคมน” (เกือบตรงกับ คมนาคม ของเรา) และ “ชนสญฺจาร” (ชะ-นะ-สัน-จา-ระ) แปลว่า การสัญจรของผู้คน

จราจร” = “การเคลื่อนไปมาตามทาง” จึงเป็นบาลีตามภูมิปัญญาไทยอีกคำหนึ่ง

อารมณ์ขัน : จร = ไป อจร = ไม่ไป = หยุด : จร + อจร = จราจร = ไปๆ หยุดๆ

บาลีวันละคำ (284)

17-2-56

จร ค.,ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การเที่ยวไป, คนท่องเที่ยว, คนสอดแนม.

จราจร ค.

ซึ่งเที่ยวไปเที่ยวมา, ซึ่งเที่ยวไปๆ มาๆ, คลอนแคลน.

จร (บาลี-อังกฤษ)

การเที่ยวไป, การเดินไป, ผู้เดินหรืออยู่ เช่น โอกจร = ผู้อยู่ในน้ำ

ผู้ถูกให้ไปส่งข่าว, จารบุรุษ, คนสอดแนม

จรติ = เคลื่อนที่ไป, ท่องเที่ยวไป, “อยู่และเคลื่อนที่”, ประพฤติ, เป็น (to be), ปฏิบัติ, ดำเนินชีวิต

อาจรติ = ปฏิบัติ, กระทำ, ซ่องเสพ; เหยียบ, ผ่านไป

อาจรติ ก.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ประพฤติ, ปฏิบัติ, กระทำ.

คมนาคมน นป.

การคมนาคม, การไปและการมา.

คมนาคม

 [คะมะนาคม, คมมะนาคม] น. การติดต่อไปมาถึงกัน, การสื่อสาร; ชื่อกระทรวงที่มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการคมนาคม การขนส่ง การพาณิชยนาวี การสื่อสาร และการอุตุนิยมวิทยา. (ป. คมน + อาคม).

จราจร

 [จะราจอน] น. การที่ยวดยานพาหนะ คน หรือ สัตว์พาหนะเคลื่อนไปมาตามทาง, เรียกผู้มีหน้าที่เกี่ยวด้วยการนั้น; (กฎ) การใช้ทางของผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์.

จราจร street traffic (สอ เสถบุตร)

จร ๑, จร-

 [จอน, จอระ-, จะระ-] ว. ไม่ใช่ประจํา เช่น คนจร รถจร, แทรกแปลกเข้ามา เช่น โรคจร ลมจร.ก. ไป, เที่ยวไป; ประพฤติ. (ป., ส.), ใช้เป็นบทท้ายสมาสก็มี เช่น ขจร = เที่ยวไปในอากาศ, วนจร = เที่ยวไปในป่า, ที่ใช้ควบกับคําไทยก็มี.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย