บาลีวันละคำ

อนฺธพาล (บาลีวันละคำ 283)

อนฺธพาล

อ่านว่า อัน-ทะ-พา-ละ

ภาษาไทยเขียน “อันธพาล” อ่านว่า อัน-ทะ-พาน

อนฺธพาล” ประกอบด้วย อนฺธ + พาล = อนฺธพาล

อนฺธ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ป่วยทางจักษุ” ความหมายตามตัวคือ มืด, ตาบอด, ถูกทำให้แลไม่เห็น, ถูกปิดตา. ความหมายตามสำนวนคือ มืดมนทางใจ, มีใจไม่สดใส, ไม่มีเหตุผล, ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี

พาล” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –

1. เด็กอ่อน, เด็กน้อย (แปลตามศัพท์ : “ผู้อันบิดามารดาคอยระวัง” “ผู้อันบิดามารดาต้องพาไปด้วย”)

2. คนพาล, คนโง่, ผู้อ่อนด้อย, ผู้ขาดเหตุผล (แปลตามศัพท์ : “ผู้มีชีวิตอยู่เพียงหายใจเข้าออก” “ผู้ตัดประโยชน์สองอย่าง คือประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน”)

พาล” ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า คนชั่วร้าย, คนเกเร

พจน.42 ให้ความหมาย “อันธพาล” ว่า คนเกะกะระราน

แต่ “อนฺธพาล” ในภาษาบาลีหมายถึงคนคิดผิด คือไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ไม่มีความสามารถที่จะคิดและที่จะกระทำให้ถูก

ทางโลก : ต้อง-เรียนไม่คิด ติดยา ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก ลักเล็กขโมยน้อย คอยระราน ชาวบ้านนอนตาไม่หลับ จึงนับว่าเป็นอันธพาล

ทางธรรม : ต่อให้-ตำแหน่งใหญ่ ใส่สูท พูดเนียน เรียนดี มีผลงาน บริหารเยี่ยมยุทธ์ แต่ทุจริต ได้สิทธิ์เป็นอันธพาลทันที

บาลีวันละคำ (283)

16-2-56

อนฺธ = คนตาบอด (ศัพท์วิเคราะห์)

– อนฺธตีติ อนฺโธ ผู้มืดมิด

อนฺธ ธาตุ ในความหมายว่ามืดมิด, เสียการเห็น อ ปัจจัย

– จกฺขุนา อมติ รุชฺชตีติ อนฺโธ ผู้ป่วยทางจักษุ คือตาพิการ

อม ธาตุ ในความหมายว่าเจ็บไข้, ป่วย ธ ปัจจัย แปลง ม เป็น น ลบสระหน้า

พาล ๑ = เด็กอ่อน, เด็กน้อย

พาลิยเต สํวริยเตติ พาโล ผู้อันบิดามารดาคอยระวัง

พล ธาตุ ในความหมายว่าป้องกัน, ระวัง ณ ปัจจัย

ทฺวีหิ มาตาปิตูหิ ลาตพฺโพติ พาโล ผู้อันบิดามารดาต้องพาไปด้วย

ทฺวิ บทหน้า ลา ธาตุ ในความหมายว่าถือเอา อ ปัจจัย แปลง ทฺวิ เป็น พา ลบสระหน้า

พาล ๒ = คนพาล, คนโง่, ผู้อ่อนด้อย

– พลติ อสฺสาสิตปสฺสาสิตมตฺเตน ชีวติ พาโล ผู้มีชีวิตอยู่เพียงหายใจเข้าออก

พล ธาตุ ในความหมายว่ามีชีวิต ณ ปัจจัย

– เทฺว อตฺเถ ลุนาติ ฉินฺทตีติ พาโล ผู้ตัดประโยชน์สองอย่าง

ทฺวิ บทหน้า ลุ ธาตุ ในความหมายว่าตัด อ ปัจจัย แปลง ทฺวิ เป็น พา ลบสระที่สุดธาตุ

อนฺธ ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

มืด, บอด,โง่เขลา.

อนฺธ (บาลี-อังกฤษ)

– (ตามตัว) บอด, ถูกทำให้แลไม่เห็น, ถูกปิดตา

– (อุปมา) มืดมนทางใจ, มีใจไม่สดใส, โง่, แลไม่เห็น

อนฺธพาล = อันธพาล, โง่เง่า, มีปัญญาทึบ blinded by folly, foolish, dull of mind, silly

พาล (บาลี-อังกฤษ)

งี่เง่า (มักเกี่ยวกับความโง่หรือไม่รู้ของสามัญชนหรือปุถุชนในทางศีลธรรม), โง่ (ตรงกันข้ามกับ ปณฺฑิต), ขาดเหตุผล, ไม่มีความสามารถที่จะคิดและที่จะกระทำให้ถูก (อนฺธพาล โง่ และงี่เง่า, สมองทึบ stupid & ignorant, mentally dull)

อนฺธพาล ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อันธพาล, โง่เขลา, ขี้ขลาด, คนปัญญาอ่อน.

พาล ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

พาล, โง่, เขลา, ชั่ว, ร้าย, คนชั่วร้าย, เกเร, อ่อน

พาล ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ลูก, เด็ก; คนโง่, คนพาล; ผมหรือขน (เพี้ยนมาจาก วาล).

อนธ-, อันธ-

 [อนทะ-, -ทะ-] ว. มืด, มืดมน; โง่, ทึบ; มองไม่เห็น, บอด. (ป., ส.).

อันธ-

 [อันทะ-] ว. มืด, มืดมน, เช่น อันธกาล; โง่, ทึบ, เช่น อันธปัญญา; มองไม่เห็น, บอด, เช่น อันธจักษุ. (ป., ส.).

อันธการ

น. ความมืด, ความมัว, ความมืดมน; เวลาคํ่า; ความเขลา; อนธการ ก็ว่า. (ป.).

อันธพาล

น. คนเกะกะระราน. (ป.).

พาล ๑

น. ขน. (ป., ส.).

พาล ๒, พาลา

 (กลอน) ว. อ่อน, เด็ก, รุ่น. (ส., ป.); ชั่วร้าย, เกเร, เกะกะ, เช่น คนพาล.ก. หาเรื่องทำให้วุ่นวาย, หาเรื่องทำให้เดือดร้อน, เช่น พาลหาเรื่อง พาลหาเหตุ.น. คนชั่วร้าย, คนเกเร, เช่น คบคนพาลพาลพาไปหาผิด. (ป.).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย