บาลีวันละคำ

อุทิศ (บาลีวันละคำ 3,952)

อุทิศ

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า อุ-ทิด 

อุทิศ” บาลีเป็น “อุทฺทิสฺส” อ่านว่า อุด-ทิด-สะ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ทิสฺ (ธาตุ = ประกาศ; แสดง; ให้), ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ทฺ + ทิสฺ) + ตฺวา ปัจจัย, แปลง ตฺวา เป็น แล้วแปลง กับที่สุดธาตุเป็น สฺส 

: อุ + ทฺ + ทิสฺ = อุทฺทิสฺ + ตฺวา = อุทฺทิสฺตฺวา > อุทฺทิสฺย > อุทฺทิสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ประกาศขึ้นแล้ว” “มุ่งเฉพาะแล้ว” “ตั้งใจให้แล้ว

อุทฺทิสฺส” เวลาใช้ในประโยต มักทำหน้าที่เป็น “กิริยาวิเสสนะ” (แต่งคำกริยาให้มีความหมายพิเศษกว่าปกติ) ในทางปฏิบัติคือไม่แปลว่า “แล้ว” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุทฺทิสฺส” ไว้ดังนี้ –

(1) (ใช้ในความหมายทั่วไป) indicating, with signs or indications (แสดง, มีเครื่องหมายหรือการแสดงออก) 

(2) (ใช้เป็นกิริยาวิเสสนะ) –

(ก) pointing to, tending towards, towards, to (บ่งชี้ไปยัง, หันไปทาง, ไปทาง, ไปยัง) 

(ข.) with reference to, on account of, for, concerning (ในเรื่อง, เนื่องด้วย, สำหรับ, เกี่ยวกับ) 

ขยายความ : 

ตฺวา ปัจจัย เป็นปัจจัยบอกอดีตกาล เวลาแปลต้องมีคำว่า “แล้ว” ต่อท้ายคำกริยา เช่น –

กตฺวา” (กรฺ ธาตุ = ทำ + ตฺวา ปัจจัย) แปลว่า “ทำแล้ว

ทตฺวา” (ทา ธาตุ = ให้ + ตฺวา ปัจจัย) แปลว่า “ให้แล้ว

อุทฺทิสฺส” (อุ + ทฺ + ทิสฺ = แสดง + ตฺวา ปัจจัย) ก็ควรจะแปลว่า “แสดงขึ้นแล้ว” “มุ่งเฉพาะแล้ว” หรือ “ตั้งใจให้แล้ว

แต่เพราะ “อุทฺทิสฺส” ใช้ทำหน้าที่กิริยาวิเสสนะ จึงไม่มีคำว่า “แล้ว” ต่อท้ายคำกริยา คงแปลแต่เพียงว่า “แสดงขึ้น” “มุ่งเฉพาะ” หรือ “ตั้งใจให้” 

อนึ่ง คำว่า “แสดงขึ้น” “มุ่งเฉพาะ” หรือ “ตั้งใจให้” เป็นคำแปลตามศัพท์ คำแปลตามความหมายที่นักเรียนบาลีนิยมใช้ในการแปลคำนี้คือ “เจาะจง

: “อุทฺทิสฺส” = “เจาะจง

อุทฺทิสฺส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุทิศ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “อุทิศ” ช่วยให้เห็นความหมายในภาษาบาลีไว้ดังนี้ –

…………..

อุทิศ : เฉพาะ, เจาะจง, เพ่งเล็งถึง, ทำเพื่อ, หมายใจต่อ, มุ่งให้แก่, มุ่งไปยัง, มุ่งไปที่ (ดังตัวอย่างในประโยคต่างๆ ว่า “เขาออกบวชอุทิศพระพุทธเจ้า”, “เธอให้ทานอุทิศหมู่ญาติ”, “พระเถระเดินทางไกลจากเมืองสาวัตถีอุทิศหมู่บ้านนั้น”, “นายวาณิชลงเรือออกมหาสมุทรอุทิศสุวรรณภูมิ”); ในภาษาไทย มักใช้ในความหมายที่สัมพันธ์กับประเพณีการทำบุญเพื่อผู้ล่วงลับ หมายถึง ตั้งใจทำการกุศลนั้นโดยมุ่งให้เกิดผลแก่ผู้ตายที่ตนนึกถึง 

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอขยายความเพิ่มเติมดังนี้ –

“เขาออกบวชอุทิศพระพุทธเจ้า” หมายความว่า ออกบวชเพราะนับถือและมุ่งปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน โดยที่ไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้ามาก่อน

“เธอให้ทานอุทิศหมู่ญาติ” หมายความว่า ให้ทานโดยตั้งใจให้ผลแห่งทานนั้นไปถึงแก่หมูญาติ

“พระเถระเดินทางไกลจากเมืองสาวัตถีอุทิศหมู่บ้านนั้น” หมายความว่า เดินทางมุ่งตรงไปยังหมู่บ้านนั้น คือมีจุดหมายอยู่ที่หมู่บ้านนั้นโดยเฉพาะ

“นายวาณิชลงเรือออกมหาสมุทรอุทิศสุวรรณภูมิ” หมายความว่า แล่นเรือมุ่งหน้าไปยังสุวรรณภูมิ (ดินแดนที่นักเดินเรือสมัยโบราณนิยมไปค้าขาย) โดยตรง ไม่ไปที่อื่น

…………..

บาลี “อุทฺทิสฺส” สันสกฤตเป็น “อุทฺทิศฺย” ภาษาไทยใช้ว่า “อุทิศ” ไม่ตามทั้งบาลีทั้งสันสกฤต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อุทิศ : (คำกริยา) ให้, ยกให้, เช่น อุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ตายตามประเพณี; ทําเพื่อ, สละให้โดยเจาะจง. (ส. อุทฺทิศฺย; ป. อุทฺทิสฺส ว่า เจาะจง).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าแน่ใจว่าตั้งเป้าหมายไว้ไม่ผิด

: ก็อุทิศชีวิตให้เลย

#บาลีวันละคำ (3,952)

8-4-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *