บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ท่านชอบใจธรรมะของใคร

ท่านชอบใจธรรมะของใคร

—————————

พระพุทธศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันวาน หลักธรรมคำสอนใดๆ ที่เราเห็นอยู่ในพระคัมภีร์วันนี้ เราไม่ใช่คนแรกที่เห็น บูรพาจารย์ท่านเรียนท่านดูท่านรู้ท่านเห็นมาก่อนเรา เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่อิ่มแค่ศึกษาเรียนรู้จากพระคัมภีร์ ก็ตามไปดูมติของท่านบูรพาจารย์ 

เมื่อศึกษาหมดสิ้นตลอดสายแล้ว ต่อจากนั้นก็ถึงทีของเราที่จะแสดงความเห็น เรามีความเห็นอย่างไรต่อหลักคำสอนนั้นๆ ก็ว่าไปได้เต็มที่ 

ขอเพียงอย่างเดียว-ขอให้มีความซื่อตรงสุจริต

ตามธรรมดา ตลอดสายของพระคัมภีร์จะไม่ขัดแย้งกัน มีแต่จะช่วยเสริมความเข้าใจให้กระจ่างแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น นี่คือความซื่อตรง

ความเห็นของบูรพาจารย์ก็จะไม่ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ ประเด็นไหนมีข้อเยื้องแย้ง ท่านก็จะทำเพียงแสดงเหตุผลประกอบไว้เพื่อให้ช่วยกันพิจารณา แต่จะไม่หักล้างเพิกถอน นี่ก็คือความซื่อตรง

ตามที่ว่ามานี้ อาจเข้าใจไปว่าความซื่อตรงคือต้องเห็นด้วยเท่านั้น ห้ามโต้แย้ง

ตรงนี้ต้องขออนุญาตขยายความ

พระธรรมวินัยนั้นเป็นกฎกติกาของสังคมสงฆ์ พระธรรมวินัยว่าไว้อย่างไร ใครเข้าไปอยู่ในสังคมสงฆ์ก็หมายถึงชอบใจในพระธรรมวินัย และพร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนั้น

เมื่อใช้สิทธิ์ในการเข้าไปเป็นสมาชิกของสังคมสงฆ์ จึงเท่ากับสละสิทธิ์ที่จะเห็นต่างหรือเห็นแย้งกับพระธรรมวินัยไปแล้ว 

แบบนี้ไม่ใช่เผด็จการหรือปิดกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

เรายังสามารถใช้เสรีภาพในความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ตามที่เราปรารถนา แต่ต้องตั้งอยู่บนความซื่อตรง

ถ้าไม่เห็นด้วย ไม่เลื่อมใส ไม่เชื่อถือ ไม่ปรารถนาจะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เราก็มีสิทธิ์ที่จะออกไปจากพระธรรมวินัยที่เราไม่เชื่อนั้นได้ทันที

หมายความว่า หลักของผู้ที่เจริญแล้วในโลกนี้มีอยู่ว่า เมื่อใครชอบใจสังคมสมาคมของใคร ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎกติกามารยาทของสังคมนั้นๆ 

………………………………………

กํสิ  ตฺวํ  อาวุโส  อุทฺทิสฺส  ปพฺพชิโต,

ท่านตั้งใจบวชตามใคร

โก  วา  เต   สตฺถา,

ใครเป็นครูของท่าน

กสฺส  วา  ตฺวํ  ธมฺมํ  โรเจสิ.

ท่านชอบใจธรรมะของใคร

คำถามของอุปติสสปริพาชก (พระสารีบุตร) ถามพระอัสสชิเถระ

ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ หน้า ๘๓ (สัญชยวัตถุ)

………………………………………

กฎกติกามารยาทของสังคมสงฆ์ก็คือพระธรรมวินัย 

เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของสังคมสงฆ์ ก็คือสมัครใจพอใจที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย 

ถ้าไม่ชอบใจ ไม่พอใจ หรือเห็นว่าไม่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้จะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ก็มีความซื่อตรง คือสละสิทธิ์ที่จะเป็นสมาชิกในสังคมสงฆ์ออกไปเสีย 

การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้แปลว่าเสือกไสไล่ส่ง หากแต่เป็นการแสดงออกถึงความซื่อตรง 

สังคมที่เจริญแล้วที่ไหนๆ ก็ยอมรับกฎกติกาดังว่านี้กันทั้งนั้น

ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วย โต้แย้ง ไม่ปฏิบัติตาม แต่ก็ยังอยู่ในสังคมนั้นด้วย แบบนี้คือไม่มีความซื่อตรง

ที่มีปัญหาอยู่ในเวลานี้ก็เพราะความไม่ซื่อตรงแบบนี้แหละ 

คือขอใช้สิทธิ์เป็นสมาชิกของสังคมสงฆ์ด้วย

แล้วก็ใช้อภิสิทธิ์ (ซึ่งตามเป็นจริงแล้วใช้ไม่ได้) ขอไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วย 

ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว 

การได้สิทธิ์อยู่ในสังคมสงฆ์ก็เพราะมีสัญญาที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

การไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยจึงเท่ากับบอกคืนสิทธิ์ที่จะอยู่ในสังคมสงฆ์นั่นเอง

นี่คือความซื่อตรง นี่คือความตรงไปตรงมา

ดังนั้น การไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย แต่ยังถือสิทธิ์อยู่ในสังคมสงฆ์จึงเป็นการขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว

เวลานี้ความคิดและการกระทำเช่นนี้มีแนวโน้มว่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ คือมีผู้เห็นดีเห็นด้วยกับแนวคิดและการปฏิบัติเช่นนี้กันมากขึ้น 

อยู่ในสังคมสงฆ์ด้วย

ไม่ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วย

ถ้าเป็นแบบนี้กันมากๆ สังคมสงฆ์ก็วิปริต 

พระธรรมวินัยก็วิปลาส

และพระศาสนาก็จะวินาศในที่สุด

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

๑๖:๑๑

………………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *