บาลีวันละคำ

ธรรมเสนานี (บาลีวันละคำ 3,440)

ธรรมเสนานี

001 Dhammacakka, 7c, Dwaravati, National Museum, Bangkok, Thailand, National Museum, Bangkok, Thailand, photograph by Anandajoti Bhikkhu

ผู้นำกองทัพธรรม

อ่านว่า ทำ-มะ-เส-นา-นี

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + เสนานี

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายครอบคลุมถึงความหมายทุกอย่างของคำว่า “ธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึง คําสั่งสอนในศาสนา 

(๒) “เสนานี

อ่านว่า เส-นา-นี รากศัพท์มาจาก เสนา + นี ธาตุ

(ก) “เสนา” บาลีอ่านว่า เส-นา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สิ > เส + = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้

(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้

เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)

บาลี “เสนา” สันสกฤตก็เป็น “เสนา” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เสนา : (คำนาม) กองทัพ; ภควดี; มูรติพลหรือยุทโธปกรณานิของเทพดา; ชายาของการติเกย; an army; a goddess; the personified armament of the gods; the wife of Kārtikeya.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

เสนา ๑ : (คำนาม) ไพร่พล. (ป., ส.).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –

เสนา ๑ : (คำโบราณ) (คำนาม) ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).”

คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก

(ข) เสนา + นี (ธาตุ = นำไป) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: เสนา + นี = เสนานี + กฺวิ = เสนานีกฺวิ > เสนานี (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำกองทัพ” หมายถึง นายพล (a general)

บาลี “เสนานี” สันสกฤตก็เป็น “เสนานี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เสนานี : (คำนาม) จมูบดี, ผู้นำทัพ, คำว่า ‘แม่ทัพ, นายพล’ ก็ใช้; การติเกย, ผู้แสนยเทพของชาวฮินดู; a general, a commander of an army; Kārtikeya, a military deity of Hindus.”

ธมฺม + เสนานี = ธมฺมเสนานี (ทำ-มะ-เส-นา-นี) แปลว่า “ผู้นำกองทัพธรรม” 

ธมฺมเสนานี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมเสนานี” 

ขยายความ :

คำว่า “ธรรมเสนานี” มีความหมายเท่ากับคำว่า “ธรรมเสนาบดี” หมายถึง แม่ทัพธรรม, ผู้เป็นนายทัพธรรม เป็นคำเรียกยกย่องพระสารีบุตรซึ่งเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดาในการประกาศพระศาสนา คือ นายพลแห่งกองทัพธรรม (a general of the Dhamma)

ในคณะสงฆ์ไทย คำว่า “ธรรมเสนานี” ใช้เป็นราชทินนามสมณศักดิ์พระราชาคณะ เดิมเป็นราชทินนามพระราชาคณะชั้นสามัญ ภายหลังปรับเปลี่ยนเป็นราชทินนามพระราชาคณะชั้นธรรม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กองทัพที่ขุนพลไม่รู้วิธีนำทัพ

: จะต่างอะไรกับกองทัพที่ไม่มีขุนพล

#บาลีวันละคำ (3,440)

12-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *