บาลีวันละคำ

เทพบุตร (บาลีวันละคำ 3,439)

เทพบุตร

มนุษย์ก็เป็นได้

อ่านว่า เทบ-พะ-บุด

ประกอบด้วยคำว่า เทพ + บุตร

(๑) “เทพ

บาลีเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” 

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา 

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน) 

ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2) คือเทวดาหรือเทพเจ้า 

เทว” เมื่อใช้ในภาษาไทยแปลง เป็น ตามสูตรที่นิยมทั่วไป เช่น – 

วร > พร 

วิวิธ > พิพิธ 

: เทว > เทพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เทพ” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) เทพ ๑, เทพ– : (คำนาม) เทวดา. (ป., ส. เทว).

(2) เทพ ๒ : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อเพลงไทย เช่น เทพทอง เทพชาตรี เทพบรรทม เทพนิมิต เทพรัญจวน.

(3) เทพ ๓ : (คำนาม) สมณศักดิ์พระราชาคณะสูงกว่าชั้นราช ตํ่ากว่าชั้นธรรม เรียกว่า ชั้นเทพ เช่น พระเทพโมลี.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “เทพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

เทพ : เทพเจ้า, ชาวสวรรค์, เทวดา; ในทางพระศาสนา ท่านจัดเป็น ๓ คือ 

๑. สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ = พระราชา, พระเทวี พระราชกุมาร 

๒. อุปปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด = เทวดาในสวรรค์และพรหมทั้งหลาย

๓. วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ = พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

…………..

(๒) “บุตร

บาลีเป็น “ปุตฺต” อ่านว่า ปุด-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปู (ธาตุ = สะอาด, ชำระ) + ปัจจัย, ซ้อน ตฺ, รัสสะ อู ที่ ปู เป็น อุ (ปู > ปุ)

: ปู + ตฺ + = ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหตุให้บิดามารดาสะอาด” (คือไม่ถูกตำหนิว่าไม่มีผู้สืบสกุล) (2) “ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด” (คือทำให้ตระกูลมีผู้สืบต่อ)

(2) ปูรฺ (ธาตุ = เต็ม) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ,(ปูรฺ > ปูตฺ), รัสสะ อู ที่ ปู-(รฺ) เป็น อุ (ปูร > ปุร)

: ปูรฺ + ตฺ = ปูรต > ปูตฺต > ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(3) ปุสฺ (ธาตุ = เลี้ยง) + ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ (ปุสฺ > ปุ), ซ้อน ตฺ 

: ปุสฺ > ปุ + ตฺ + = ปุตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันมารดาบิดาเลี้ยงดู” 

ปุตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ลูกชาย (a son) 

(2) เด็ก, ผู้สืบสกุล (child, descendant)

เทว + ปุตฺต = เทวปุตฺต (เท-วะ-ปุด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ลูกชายของเทวดา” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความคำว่า “เทวปุตฺต” ไว้ดังนี้ –

…………..

“son of a god,” a demi-god, a ministering god (cp. f. deva-dhītā), usually of Yakkhas, but also appld to the 4 archangels having charge of the higher world of the Yāmā devā (viz. Suyāma devaputta); the Tusitā d. (Santusita d.); the Nimmānaratī d. (Sunimmita d.); & the Paranimmitavasavattī d. (Vasavattī d.) 

“บุตรของเทพ”, เทพบุตร, เทพที่มีหน้าที่ปฏิบัติ (เทียบศัพท์อิตถีลิงค์ เทวธีตา), ตามปกติใช้กับพวกยักษ์, แต่ก็ใช้กับหัวหน้าเทพ 4 ตน ซึ่งปกครองอยู่ในเทวโลกชั้นสูงของ ยามา เทวา (กล่าวคือ สุยามเทวปุตฺต); ตุสิตา เทวา (สนฺตุสิตเทวปุตฺต); นิมุมานรตี เทวา (สุนิมฺมิตเทวปุตฺต); และ ปรนิมฺมิตวสวตฺตี เทวา (วสวตฺตีเทวปุตฺต)

…………..

เทวปุตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เทพบุตร” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

เทพบุตร : เทวดาผู้ชาย, ชาวสวรรค์เพศชาย.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เทพบุตร : (คำนาม) เทวดาผู้ชาย. (ส.).”

สรุปว่า “เทพบุตร” หมายถึง เทวดาทั่วไปที่มีเพศเป็นชาย ส่วนเทวดาที่มีเพศเป็นหญิง เรียกว่า “เทพธิดา

แถม :

ภาษาไทยในจินตนาการ หรือสำนวนนิยายในสมัยหนึ่ง ชายผู้เป็นที่รักของหญิง หรือผู้ชายที่มีความสามารถโดดเด่นในทางใดทางหนึ่งเป็นที่ชื่นชมของคนทั้งหลาย ก็นิยมเรียกว่า “เทพบุตร” เช่น “เทพบุตรเท้าไฟ” หมายถึง ผู้ชายที่มีความสามารถในทางเต้นรำ มีลีลาเต้นรำที่งดงาม เร้าใจ ชวนมอง เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประพฤติเทวธรรมให้บริสุทธิ์

: เป็นเทพบุตรได้ทันที

#บาลีวันละคำ (3,439)

11-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *