บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จาก-หอนาฬิกา

จาก-หอนาฬิกา

ถึง-ข้อมูล ความเชื่อ และข้อเท็จจริง

—————————

ในโลกแห่งการสื่อสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเฟซบุ๊กเป็นต้น เมื่อได้เห็นข่าวสาร หรือเมื่อได้อ่านได้ฟังความคิดเห็นของใครๆ เกี่ยวกับปัญหาใดๆ ก็ตาม เราแน่ใจแล้วหรือว่านั่นเป็นข่าวสารหรือความคิดเห็นที่มาจากข้อมูลจริง มาจากความเชื่อหรือการตีความ หรือว่ามาจากข้อเท็จจริงจริงๆ ?

………..

ที่ราชบุรีมี โรงพยาบาลเมืองราช อยู่ใกล้ๆ กับวัดมหาธาตุ ถ้าไปยืนหน้าโรงพยาบาลหันหน้าออก แล้วเดินไปทางซ้ายมือจะเป็นสี่แยก ชื่อแยกอะไรก็ไม่ทราบ ผมเรียกเอาเองว่า สี่แยกตัวคูณ เพราะถนนตัดกันเป็นรูปเครื่องหมายคูณ ไม่ใช่เครื่องหมายบวกเหมือนสี่แยกทั่วไป

ตรงสี่แยกตัวคูณนั้นเทศบาลสร้างหอนาฬิกาไว้หอหนึ่งตั้งแต่ราวๆ กลางปีที่แล้ว (๒๕๕๗)

ตอนสร้างใหม่ๆ ก็ดูดี (โปรดดูรูปประกอบ) นาฬิกาก็เดินตรงดี

ต่อมาไม่นาน นาฬิกาก็เริ่มเพี้ยน

————–

บ่ายวันหนึ่ง ผมขับรถผ่านไปทางหอนาฬิกาแห่งนี้ ญาติที่นั่งไปด้วยเห็นเวลาที่หอนาฬิกาก็เปรยขึ้นว่า 

“เออ สร้างได้ไม่เท่าไรนาฬิกาตายเสียแล้ว”

ขณะนั้นเวลาจริงคือบ่าย

แต่นาฬิกาที่หอบอกเวลาสองโมงเช้า

คนที่ไม่ได้อยู่แถวนั้นถ้าผ่านหอนาฬิกาแห่งนี้จะต้องเข้าใจเหมือนๆ กันว่า นาฬิกาตาย

————–

ผมเดินออกกำลังตอนเช้าผ่านหอนาฬิกาที่สี่แยกตัวคูณนี้บ่อยๆ (บ้านผมกับหอนาฬิกานี้อยู่ห่างกันไม่เกิน ๕๐๐ เมตร)

บางวันตอนบ่ายผมไปส่งหนังสือที่ไปรษณีย์สำนักงานไปรษณีย์เขต ๗ ก็ผ่านทางหอนาฬิกานี้

ทุกครั้งที่ผ่าน ผมสังเกตเห็นว่า เวลาที่ผมเห็นตอนเช้ากับเวลาที่ผมเห็นตอนบ่าย เข็มนาฬิกาที่หอนาฬิกาแห่งนี้ไม่ได้ชี้ไปที่เวลาเดียวกัน

ถ้านาฬิกาตาย เข็มนาฬิกาจะต้องชี้อยู่ตำแหน่งเดียวตลอดเวลา

ความจริงก็คือ นาฬิกาไม่ได้ตาย

เพียงแต่เดินผิดเวลาไปหลายชั่วโมงเท่านั้น

————–

เป็นอันว่า –

๑ ข้อมูลที่คนทั่วไปรู้ คือ เวลาจริงกับเวลาที่ปรากฏบนหน้าปัดของนาฬิกาที่หอแห่งนี้ไม่ตรงกัน

๒ จากข้อมูลนี้ คนทั่วไปจึงมักเชื่อว่า นาฬิกาตาย 

๓ ความจริงคือ นาฬิกาที่หอนี้ไม่ได้ตาย แต่เดินผิดเวลา

————–

ในโลกแห่งการสื่อสารด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเฟซบุ๊กเป็นต้น เมื่อได้เห็นข่าวสาร หรือเมื่อได้อ่านได้ฟังความคิดเห็นของใครๆ เกี่ยวกับปัญหาใดๆ ก็ตาม เราแน่ใจแล้วหรือว่านั่นเป็นข่าวสารหรือความคิดเห็นที่มาจากข้อมูลจริง มาจากความเชื่อหรือการตีความ หรือว่ามาจากข้อเท็จจริงจริงๆ ?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *