กาฬกณฺณี (บาลีวันละคำ 293)
กาฬกณฺณี
อ่านว่า กา-ละ-กัน-นี
ภาษาไทยใช้ว่า กาลกรรณี, กาลกิณี (กา-ละ-กัน-นี, กาน-ละ-กัน-นี, กา-ละ-กิ-นี, กาน-ละ-กิ-นี)
“กาฬกณฺณี” ประกอบด้วย กาฬ (= ดำ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ, แปลง รฺ เป็น ณฺ) = กณฺ + ณี ปัจจัย = กาฬกณฺณี แปลตามศัพท์ว่า “คนที่ทำให้ดำ” ขยายความว่า อยู่ที่ไหนหรือเกี่ยวข้องกับใคร ก็ทำให้ที่นั้นคนนั้นพลอยเป็นเหมือนสีดำ อับเฉา มืดมัว ขัดข้องไปหมด
ความหมายที่เข้าใจกัน คือ คนจัญไร, ความจัญไร, ความเป็นเสนียด, เสนียดจัญไร, อัปมงคล, ลักษณะที่เป็นอัปมงคล, ตัวก่ออุบาทว์, ตัวนำเคราะห์ร้ายหรือทำให้อับโชค
ฝรั่งเข้าใจตรงตามศัพท์ที่เห็น คือ กาฬ = ดำ + กณฺณี = มีหู = มีหูดำ จึงแปล “กาฬกณฺณี” ว่า “black eared” และขยายความว่า การเห็นคนมีหูดำจัดว่าเป็นลางร้ายซึ่งทำลายโชคของคนบางอาชีพ เช่นนายพราน
ตรงกันข้ามกับกาฬกณฺณี – กาลกรรณี – กาลกิณี ก็คือ สิริมงคล
สัจธรรม : ไม่ว่าจะหูดำหรือตัวดำสนิท ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะทำความดี
———–
(ฉลองศรัทธาท่านพระมหาอาทิตย์ อาทิตฺตเมธี กราบขอบพระคุณ)
บาลีวันละคำ (293)
26-2-56
กาฬกณฺณี = คนจัญไร (ศัพท์วิเคราะห์)
– อตฺตโน นิสฺสยํ กาฬวณฺณสทิสํ กโรติ อปฺปกาสกตฺตาติ กาฬกณฺณี คนที่ทำให้สิ่งที่อาศัยตนเป็นเหมือนสีดำ เพราะเป็นผู้สว่างน้อย
กาฬ บทหน้า กรฺ ธาตุ ในความหมายว่าทำ ณี ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ณ
– อตฺตโน กณฺหธมฺมพหุลตาย ปเรสํ จ กณฺหวิปากานตฺถนิพฺพตฺตินิมิตฺตตาย กาฬกณฺณี ชื่อว่ากาฬกัณณี เพราะตัวเองมากด้วยธรรมดำ และมีเครื่องหมายคือทำให้เกิดความฉิบหายซึ่งมีผลดำมืดแก่ผู้อื่น
กาฬกณฺณี อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ความจัญไร, ความเป็นเสนียด
กาฬกณฺณิก ค.
ผู้เป็นคนกาลกรรณี, ผู้เป็นจัญไร
กาฬกัณณี (ประมวลศัพท์)
“อันทำให้ที่ตนอาศัยพลอยเป็นดังสีดำอับมืดไป”, ตัวก่ออุบาทว์, ตัวนำเคราะห์ร้ายหรือทำให้อับโชค, เสนียดจัญไร, อัปมงคล, บางทีเพี้ยนเป็น กาลกิณี; ตรงข้ามกับ สิริ, ศรี
กาล, กาฬ (บาลี-อังกฤษ)
1. มืด, ดำ, น้ำเงินแกมดำ, มัว, มืดมัว
2. หมอกตอนเช้า หรือความมืดก่อนจะมีแสงสว่าง, เวลารุ่งแจ้ง, ตอนเช้า, กาล, เวลา
กาฬกณฺณี = “มีหูดำ” “black eared” ซึ่งเป็นเสนียด การเห็นคนมีหูดำจัดว่าเป็นลางร้ายซึ่งทำลายโชคของนายพราน
กาฬกณฺณีสกุณ = นกที่เป็นลางร้าย
กาลกรรณี, กาลกิณี
[กาละกันนี, กานละกันนี, กาละกินี, กานละกินี] น. เสนียดจัญไร, ลักษณะที่เป็นอัปมงคล. (ส. กาลกรฺณี; ป. กาลกณฺณี).