จาตุรงคสันนิบาต (บาลีวันละคำ 292)
จาตุรงคสันนิบาต
อ่านว่า จา-ตุ-รง-คะ-สัน-นิ-บาด
เขียนเป็นบาลีว่า “จาตุรงฺคสนฺนิปาต” อ่านว่า จา-ตุ-รัง-คะ-สัน-นิ-ปา-ตะ
“จาตุรงฺคสนฺนิปาต” ประกอบด้วย จตุ = จำนวนสี่ (แปลงเป็น จาตุร) + องฺค = ส่วนประกอบ หรือ องค์ประกอบ + สํ = พร้อมกัน + นิ = ลง + ปาต = การตก (สํ + นิ + ปาต = สนฺนิปาต แปลตามศัพท์ว่า “การตกลงพร้อมกัน” = การประชุม)
“จาตุรงฺคสนฺนิปาต – จาตุรงคสันนิบาต” แปลว่า “การประชุมที่มีองค์ประกอบสี่อย่าง”
“องค์ประกอบสี่อย่าง” ซึ่งนับว่าเป็นอัศจรรย์ มีดังนี้ –
1 วันนั้นเป็นวันเพ็ญ (เพ็ญเดือนมาฆะ คือเดือนสาม) วันเพ็ญเป็นวันพิเศษเนื่องจากดวงจันทร์เต็มดวงส่องสว่าง (ถ้าการประชุมเกิดขึ้นในวันอื่นที่ไม่ใช่วันเพ็ญก็ไม่อัศจรรย์)
2 พระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย (ถ้านัดหมายกันมาก่อนก็ไม่อัศจรรย์)
3 พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 (ถ้าเป็นพระอรหันต์ธรรมดา หรือมีภิกษุภูมิธรรมต่ำกว่าพระอรหันต์รวมอยู่ด้วยก็ไม่อัศจรรย์)
4 พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือเป็นภิกษุโดยพุทธานุมัติ (พูดภาษาชาวบ้านก็คือมีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกันเป็นอุปัชฌาย์ ถ้ามีพระอุปัชฌาย์ต่างองค์กันก็ไม่อัศจรรย์)
“จาตุรงคสันนิบาต” เป็นชื่อของการประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ (หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา) ในที่ประชุมนั้น ชาวพุทธเรียกวันนี้ว่า “มาฆบูชา” = การบูชาในเพ็ญเดือนมาฆะ
พึงระลึก : ความดีทำได้ทุกโอกาสก็จริง แต่เมื่อสบโอกาสแล้วทำความดีให้เต็มที่ย่อมจะเกิดผลดีเป็นพิเศษ
บาลีวันละคำ (292)
25-2-56
จาตุรงคสันนิบาต (ประมวลศัพท์)
การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ คือ
๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (เพ็ญเดือนสาม)
๒. พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์เหล่านั้นทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุ;
ดู มาฆบูชา
มาฆบูชา (ประมวลศัพท์)
การบูชาใหญ่ในวันเพ็ญ เดือน ๓ ในโอกาสคล้ายวันประชุมใหญ่แห่งพระสาวก ซึ่งเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ณ พระเวฬุวันหลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่พระองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ (การปลงพระชนมายุสังขาร ก็ตรงในวันนี้)
จาตุรงคสันนิบาต
น. การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ คือ ๑. วันนั้นดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ (ดวงจันทร์เดินมาถึงดาวฤกษ์ชื่อมฆา) ๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป ประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมวันนั้นล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา ๔. พระสงฆ์เหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น, นับเป็นวันสําคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา, คําสามัญว่า มาฆบูชา. (ป., ส.).