ทัศนมาตรศาสตร์ (บาลีวันละคำ 3,455)
ทัศนมาตรศาสตร์
ศาสตร์ว่าด้วยมาตรฐานในการมองเห็น?
อ่านตามหลักภาษาว่า ทัด-สะ-นะ-มาด-ตฺระ-สาด
แต่น่าจะมีผู้อ่านตามสะดวกปากว่า ทัด-สะ-นะ-มาด-สาด
ประกอบด้วยคำว่า ทัศน + มาตร + ศาสตร์
(๑) “ทัศน”
บาลีเป็น “ทสฺสน” (ทัด-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ยุ ปัจจัย, แปลง ทิสฺ เป็น ทสฺส, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทิสฺ > ทสฺส + ยุ > อน = ทสฺสน แปลตามศัพท์ว่า “การเห็น” หมายถึง –
(1) การเห็น, การมองดู, การสังเกต, สิ่งที่ปรากฏ, รูปร่าง (seeing, looking; noticing; sight of, appearance, look)
(2) การเล็งเห็น, เครื่องรู้เห็น, การเห็นแจ้ง, ความเห็น, ทฤษฎี (perception, faculty of apperception, insight, view, theory)
“ทสฺสน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ทัศน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทัศน-, ทัศน์, ทัศนะ, ทัศนา : (คำนาม) ความเห็น, การเห็น, เครื่องรู้เห็น, สิ่งที่เห็น, การแสดง, ทรรศนะ ก็ใช้. (ป. ทสฺสน; ส. ทรฺศน).”
(๒) “มาตร”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “มตฺต” (มัด-ตะ, เป็น “มตฺตา” ก็มี) รากศัพท์มาจาก มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ต ปัจจัย, รัสสะ ( = ทำให้เสียงสั้น) อา (ที่ มา) เป็น อะ (มา > ม), ซ้อน ต
: มา > ม + ต + ต = มตฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากำหนด” มีความหมายว่า –
(1) ประกอบด้วย, วัดหรือนับได้, ประมาณ (consisting of, measured, measuring)
(2) มากถึง, มากเท่านั้น, เพียงพอ (as much as, so much, some, enough of)
(3) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)
(4) มาตร, ปริมาณหรือจำนวน, ปริมาณที่ถูกต้อง, ความพอดี (measure, quantity, right measure, moderation)
บาลี “มตฺต” สันสกฤตเป็น “มาตฺร” และ “มาตฺรา”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) มาตฺร : (คำนาม) สากลย์, สกลพัสดุ; the whole, the entire thing.
(2) มาตฺร : (คำนาม) ‘มาตร,’ พหุบทเพิ่มคำศัพท์; a pleonastic addition to words.
(3) มาตฺร : (คำวิเศษณ์) เอก, เอกากิน, คนเดียว; only, single.
(4) มาตฺร : (คำกริยาวิเศษณ์) ฉเพาะ, เพียงคนเดียวเท่านั้น; only, solely.
(5) มาตฺรา : (คำนาม) ประมาณ; ประมาณในฉันท์, บาทพยัญชนะ; ต่างหู; ทรัพย์, พัสดุ; สระเสียงสั้น; เวลาครู่หนึ่ง; องค์เบื้องบนของอักษรเทวนาครี; quantity, measure; quantity in mettre, a syllabic foot; an ear-ring; wealth, substance; a short vowel; a moment; the upper limb of the Nāgrī characters.
ภาษาไทยใช้เป็น “มาตร” ตามสันสกฤต
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มาตร” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) มาตร ๑, มาตร– ๑ : (คำนาม) เครื่องสำหรับวัดขนาด จำนวน เวลา และมุม เช่น มาตรน้ำ มาตรไฟฟ้า, มิเตอร์ ก็ว่า. (ส. มาตฺร; ป. มตฺต).
(2) มาตร ๒, มาตร– ๒ : (คำวิเศษณ์) สักว่า. (คำสันธาน) สักว่า, แม้ว่า. (ส. มาตฺร; ป. มตฺต).
(๓) “ศาสตร์”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ
: สสฺ + ถ = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)
(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถ ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ
: สรฺ + ถ = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)
(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ถ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ
: สาสฺ + ถ = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชาความรู้ (science, art, lore)
“ศาสตร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ
(ก) หมายถึง “ของมีคม” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (1) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศัสตรา” และ “ศาสตรา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).
(2) ศาสตรา : (คำนาม) ศัสตรา.
(ข) หมายถึง “วิชาความรู้” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (3) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศาสตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”
การประสมคำ :
๑ ทัศน + มาตร = ทัศนมาตร (ทัด-สะ-นะ-มาด) แปลว่า “มาตรฐานแห่งสายตา” หรือ “มาตรฐานในการมองเห็น” หรือ “ระดับการมองเห็น”
๒ ทัศนมาตร + ศาสตร์ = ทัศนมาตรศาสตร์ (ทัด-สะ-นะ-มาด-ตฺระ-สาด) แปลว่า “หลักวิชาว่าด้วยมาตรฐานแห่งสายตา” หมายถึง วิชาที่ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าสายตาของมนุษย์ควรมีศักยภาพที่จะมองเห็นได้ในระดับไหน แล้วพยายามหาวิธีบำรุงรักษาสายตาให้สามารถมองเห็นได้ถึงระดับนั้น
ความหมายนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำกำหนดขึ้นมาเองตามรูปศัพท์ที่ปรากฏ อาจไม่ตรงหรือไม่ใช่ความหมายตามหลักวิชาที่ตกลงยอมรับกัน
ขยายความ :
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2564 เวลา 20:30) มีคำว่า “ทัศนมาตรศาสตร์” มีข้อความดังนี้ (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) –
…………..
ทัศนมาตรศาสตร์ (อังกฤษ: Optometry) เป็นหนึ่งในวิชาชีพการประกอบโรคศิลปะที่เกี่ยวข้องกับตาและโครงสร้างที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสายตา ระบบการเห็น และการประมวลผลของระบบการเห็นในมนุษย์ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ (Optometrist) ได้รับการฝึกฝนเฉพาะทางเพื่อสั่งจ่ายและประกอบเลนส์ชนิดต่างๆเพื่อปรับปรุงสภาพการเห็น ในบางประเทศ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตรยังได้รับการฝึกเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรคของตาหลายอย่าง อีกทั้งยังทำหน้าที่ของ “แพทย์ปฐมภูมิ” หรือ Primary care physician ซึ่งเป็นรูปแบบของการบูรณาการในการปฏิบัติทางการแพทย์ทั่วไประดับปฐมภูมิเข้ากับหน้าที่เฉพาะทางด้านทัศนมาตรศาสตร์
…………..
ในหนังสือศัพท์บัญญัติ อังกฤษ – ไทย, ไทย – อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน รุ่น ๑.๑ พบว่า คำอังกฤษ Optometry (ศัพท์แพทยศาสตร์) บัญญัติเป็นคำไทยว่า (1) การตรวจปรับสายตา (2) การวัดสายตา
ดังจะให้เข้าใจว่า คำว่า “ทัศนมาตรศาสตร์” ไม่ใช่ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสภา ถ้าเช่นนั้นเป็นศัพท์บัญญัติของใครหรือของสำนักไหน ควรสืบหากันต่อไปอีก
อนึ่ง คำอังกฤษ optometry รูปคำเดิมคือ optic
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล optic เป็นบาลีดังนี้:
(1) cakkhu จกฺขุ (จัก-ขุ) = จักษุ, ดวงตา
(2) nayana นยน (นะ-ยะ-นะ) = นัยน์ตา, ดวงตา
(3) nayanapaṭibaddha นยนปฏิพทฺธ (นะ-ยะ-นะ-ปะ-ติ-พัด-ทะ) = เกี่ยวกับนัยน์ตา
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้เก็บคำว่า optometry ไว้ แต่มีคำว่า optical และ optician แปลเป็นบาลีดังนี้:
optical : dassanavisayaka ทสฺสนวิสยก (ทัด-สะ-นะ-วิ-สะ-ยะ-กะ) = เกี่ยวกับความสามารถในการมองเห็น
optician :
(1) upanettavāṇija อุปเนตฺตวาณิช (อุ-ปะ-เนด-ตะ-วา-นิด) = ผู้ค้าอุปกรณ์เกี่ยวกับดวงตา, ช่างทำแว่น
(2) diṭṭhisatthaññū ทิฏฺฐิสตฺถญฺญู (ทิด-ถิ-สัด-ถัน-ยู) = ผู้เชี่ยวชาญทัศนศาสตร์
…………..
ผู้ปรารถนาจะได้ความรู้เกี่ยวกับ Optometry หรือ “ทัศนมาตรศาสตร์” หรือ “ทัศนมาตร” ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ โปรดศึกษาสืบค้นกันต่อไปเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตานอก มองให้เห็นโลกกว้างไกล
: ตาใน มองให้เห็นตัวเอง
…………………………….
ภาพประกอบ: ร้านแว่นที่ makro ราชบุรี
…………………………….
#บาลีวันละคำ (3,455)
27-11-64
…………………………….