บาลีวันละคำ

ทานปติ (บาลีวันละคำ 95)

ทานปติ

อ่านว่า ทา-นะ-ปะ-ติ

ประกอบด้วยคำว่า “ทาน” (= สิ่งที่ให้) + ปติ (= เจ้าของ) = ทานปติ

คำว่า “ปติ” มีความหมายหลายอย่าง เช่น ผัว, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ, เป็นเจ้า, เป็นใหญ่, เป็นนาย, เป็นหัวหน้า (คำว่า “-บดี” ในภาษาไทย เช่น อธิบดี คณบดี อธิการบดี ก็มาจากคำว่า “-ปติ” นี้)

“ทานปติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “ทานบดี” (ทาน-นะ-บอ-ดี) แปลว่า “เจ้าของทาน” “ผู้เป็นใหญ่ในทาน”

คำในชุด “ทานบดี” มี 3 คำ คือ ทานทาส (ทาน-นะ-ทาด) ทานสหาย (ทาน-นะ-สะ-หาย) และ ทานบดี

บุคคลใด ตนเองบริโภคของดีๆ แต่แก่ผู้อื่นให้ของไม่ดี ทำตัวเป็นทาสของสิ่งของ บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานทาส”

บุคคลใด ตนเองบริโภคของอย่างใด ก็ให้แก่ผู้อื่นอย่างนั้น บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานสหาย”

บุคคลใด ตนเองบริโภคหรือใช้ของตามที่พอมีพอเป็นไป แต่แก่ผู้อื่นจัดให้ของที่ดีๆ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจสิ่งของ แต่เป็นนายเป็นใหญ่ ทำให้สิ่งของอยู่ใต้อำนาจของตน บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานบดี”

ลองตรวจสอบตัวเองว่า เราอยู่ในประเภทไหน

ทานทาส ทานสหาย หรือ ทานบดี ?

บาลีวันละคำ (95)

11-8-55

ห้องพระ

13-10-55

ทานบดี

  [ทานนะบอดี] น. เจ้าของทาน. (ป., ส. ทานปติ).

ปติ

พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ

lord, master, owner, leader

ปติ (นาม)

ผัว, นาย, เจ้าของ.

ปติ (คุณศัพท์)

เป็นเจ้า, เป็นใหญ่, เป็นนาย, เป็นหัวหน้า

ทานบดี

“เจ้าแห่งทาน”, ผู้เป็นใหญ่ในทาน, พึงทราบคำอธิบาย ๒ แง่ คือ ในแง่ที่ ๑ ความแตกต่างระหว่าง ทายก กับ ทานบดี, “ทายก” คือผู้ให้ เป็นคำกลางๆ แม้จะให้ของของผู้อื่นตามคำสั่งของเขา โดยไม่มีอำนาจหรือมีความเป็นใหญ่ในของนั้น ก็เป็นทายก (จึงไม่แน่ว่าจะปราศจากความหวงแหนหรือมีใจสละจริงแท้หรือไม่) ส่วน “ทานบดี” คือผู้ให้ที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจในของที่จะให้ จึงเป็นใหญ่ในทานนั้น (ตามปกติต้องไม่หวงหรือมีใจสละจริง จึงให้ได้) ในแง่ที่ ๑ นี้ จึงพูดจำแนกว่า บางคนเป็นทั้งทายกและเป็นทานบดี บางคนเป็นทายกแต่ไม่เป็นทานบดี; ในแง่ที่ ๒ ความแตกต่างระหว่าง ทานทาส ทานสหาย  และทานบดี, บุคคลใด ตนเองบริโภคของดีๆ แต่แก่ผู้อื่นให้ของไม่ดี ทำตัวเป็นทาสของสิ่งของ บุคคลนั้นเรียกว่า ทานทาส, บุคคลใด ตนเองบริโภคของอย่างใด ก็ให้แก่ผู้อื่นอย่างนั้น บุคคลนั้นเรียกว่า ทานสหาย, บุคคลใด ตนเองบริโภคหรือใช้ของตามที่พอมีพอเป็นไป แต่แก่ผู้อื่นจัดให้ของที่ดีๆ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจสิ่งของ แต่เป็นนายเป็นใหญ่ทำให้สิ่งของอยู่ใต้อำนาจของตน บุคคลนั้นเรียกว่า ทานบดี (รายละเอียด พึงดู ที.อ.๑/ ๒๖๗; สุตฺต.อ.๒/๒๓๗; สํ.ฏี.๑/๑๖๖; องฺ.ฏี.๓/๒๐)

ทานบดี

  [ทานนะบอดี] น. เจ้าของทาน. (ป., ส. ทานปติ).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย