บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จะเอาสุขภาพดีไปทำอะไร

จะเอาสุขภาพดีไปทำอะไร

————————–

จะว่าเป็นบุญหรือเป็นอะไรก็ไม่ทราบ ผมไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

เมื่อก่อนผมเป็นหวัดบ่อย เริ่มด้วยเจ็บคอ แล้วก็ไอ แล้วก็น้ำมูกไหล ใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะค่อยเข้าสู่ภาวะปกติ 

สบายอยู่ได้ไม่กี่สัปดาห์ก็เข้าวงจรเดิม เป็นอย่างนี้ทั้งปี 

เมื่ออายุราวๆ ๔๐ ผมไปอยู่นราธิวาส อยู่ที่ค่ายจุฬาภรณ์ ปฏิบัติราชการโดยไม่มีวันหยุด ๒ ปีเต็ม 

หลังจากนั้นมาจนบัดนี้ไม่เคยเป็นหวัดอีกเลย ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร 

มีผู้สันนิษฐานว่า ค่ายจุฬาภรณ์อยู่ใกล้ทะเล อากาศดี จึงได้ภูมิคุ้มกันที่ดี

ผมไม่ต้องกินยาอะไรทั้งสิ้นในชีวิตประจำวัน 

ไม่เคยไปหาหมอ 

และตั้งแต่เกษียณอายุราชการมาก็ไม่เคยไปตรวจสุขภาพอีกเลย 

ผมให้ร่างกายมันตรวจสอบตัวมันเอง 

ถึงเวลากิน กิน 

แต่ไม่กินจนอิ่มเกินจำเป็น 

ปฏิบัติตามหลักที่ปรากฏในคัมภีร์เถรคาถาว่า –

………………………….

จตฺตาโร  ปญฺจ  อาโลเป 

อภุตฺวา  อุทกํ  ปิเว  

อลํ  ผาสุวิหาราย 

ปหิตตฺตสฺส  ภิกฺขุโน. 

ยังอีก ๔-๕ คำจะอิ่ม 

ควรหยุดบริโภค แล้วดื่มน้ำ 

เท่านี้ก็พอแล้วที่จะอยู่ได้สบาย 

สำหรับภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว 

ที่มา: สารีปุตฺตเถร. เถรคาถา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๙๖ 

………………………….

ถึงเวลาทำงาน ทำ 

ไม่เป็นคนว่างงาน-วันนี้ไม่มีอะไรจะทำ

นั่งเหงาไปวันๆ-ไม่ใช่แบบนั้น

ถึงเวลานอน นอน 

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้อดนอน

นอนหลับสบายทุกคืน

ไม่มีอาการนอนไม่หลับ

ถึงเวลาตื่น ตื่น

บริหารร่างกายบนที่นอนก่อนจะลุก-ตามแบบที่เรียนรู้มา

เดินออกกำลังทุกเช้า 

เหมือนพระออกเดินบิณฑบาต-ได้ศึกษาภูมิประเทศไปในตัว

ยกเว้นวันพระกับหลังวันพระ 

วันพระ ต้องไปวัด

หลังวันพระ ต้องสวดมนต์ตอนเช้า

(ปกติสวดก่อนนอน-ทุกคืน ไม่เคยขาด)

ที่ต้องสวดมนต์ตอนเช้าหลังวันพระก็ติดมาจากสมัยไปนอนค้างวัดในวันอุโบสถ เช้ามืดตื่นนอนทำวัตรสวดมนต์แล้วจึงกลับบ้าน 

ตอนนี้ไม่สะดวกที่จะไปนอนวัด กลางวันทำกิจต่างๆ ที่วัดเสร็จแล้วกลับมานอนบ้าน รุ่งขึ้นก็เลยต้องสวดมนต์ตอนเช้าเสมือนว่านอนค้างวัดตามที่เคยปฏิบัติ

ถ้าไม่มีกิจดังกล่าวหรือมีกิจอื่นแทรกซ้อน ผมออกเดินทุกวัน

ถึงเวลาขับถ่าย ขับถ่ายเป็นปกติ 

ไม่เคยมีอาการท้องผูก 

รักษาอารมณ์ราบเรียบสม่ำเสมอ

ไม่กระสันอยากนั่นนี่จนหัวปักหัวปำ

ไม่โมโหโกรธาเอะอะอาละวาดกับใคร

ฝึกสติ-เอาใจไว้กับตัวเสมอ-พร้อมๆ ไปกับทำกิจอื่นๆ ตามปกติธรรมดา

โลภ โกรธ หลง มีเป็นธรรมดาของปุถุชน

แต่พยายามรู้ทัน

พอเรารู้ทัน มันก็จะหลบหน้าไป

มันมาอีก ก็รู้ทันมันอีก

…………………..

ผมเชื่อว่าวิธีการทั้งหลายทั้งปวงดังที่เล่ามานี้ไม่ใช่การตรวจสุขภาพประจำปี

แต่เป็นการตรวจสุขภาพประจำวันเลยทีเดียว

อาจารย์ผู้หญิงที่บ้านท่านมักจะแนะนำผม (บางทีถึงกับดุเอาหน่อยๆ) ว่า

กินผักนี่ดี ช่วยระบายท้อง

กินน้ำ..นี่ดี ช่วยยังงั้นๆๆ

แต่ปรากฏว่า เราสองคนนี่ ท่านต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย ผมกับลูกๆ ต้องผลัดกันไปนอนเฝ้าไข้ท่านก็หลายครั้ง 

แต่ผมยังไม่เคยไปนอนโรงพยาบาลให้ลูกเมียเฝ้าไข้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ผมพูด (เล่นๆ) เสมอว่า ผมจะเข้าโรงพยาบาลครั้งเดียว

ออกจากโรงพยาบาลก็เข้าวัดเลย

ในความหมายว่าขอป่วยครั้งเดียวแล้วตายเลย 

ผมไม่รู้ว่าจะรักษาปกติภาพเช่นนี้ไปได้นานแค่ไหน เพราะฉะนั้นผมก็ต้องไม่ประมาทด้วย 

ผมอาจจะโชคดีตรงที่ไม่ต้องมีกังวลเรื่องทำมาหากิน เพราะได้รับพระราชทานบำนาญเลี้ยงชีพทุกเดือน 

ถ้าต้องมีภาระทำงานหาเลี้ยงชีพ ผมอาจไม่สามารถบริหารชีวิตประจำวันให้ราบรื่นได้เหมือนทุกวันนี้

ใครที่ยังต้องมีภาระทำงานหาเลี้ยงชีพ ก็ควรจะได้แง่คิดว่าสมควรวางแผนชีวิตให้รอบคอบ เช่น –

จะมีกำลังทำงานหาเงินไปได้อีกแค่ไหน 

เมื่อถึงเวลาหมดกำลัง จะเลี้ยงชีพอย่างไร 

ถ้าอยู่ไปจนถึงวัยชรา จะดูแลตัวเองอย่างไร

ถ้าไม่วางแผนให้ดี อาจไม่มีเวลาทำความดีให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน

เพราะวันเวลาในชีวิตจะหมดไปกับความกังวลว่า –

พรุ่งนี้จะเอาที่ไหนกิน 

สัปดาห์นี้จะเอาที่ไหน

เดือนนี้จะเอาที่ไหน

ในที่สุด ค่าของชีวิตจะใกล้กับสัตว์เข้าไปทุกที

เพราะสัตว์มันคิดแต่เพียงว่า-วันนี้จะหากินอย่างไรจึงจะอยู่รอด

แต่มันคิดไม่เป็นว่าจะอยู่รอดไปทำอะไร

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔

๑๙:๑๐

…………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *