บาลีวันละคำ

บุคลากร (บาลีวันละคำ 3,448)

บุคลากร

ค ควายตัวเดียว

อ่านว่า บุก-คะ-ลา-กอน 

แยกศัพท์เป็น บุคล + อากร

(๑) “บุคล” 

บาลีเป็น “ปุคฺคล” อ่านว่า ปุก-คะ-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (นรก) + คลฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ 

: ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก” 

(2) ปูติ (ของบูดเน่า) + คลฺ (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, รัสสะ อู ที่ ปู-(ติ) เป็น อุ แล้วลบ ติ (ปูติ > ปุติ > ปุ), ซ้อน คฺ 

: ปูติ > ปุติ > ปุ + คฺ + คลฺ = ปุคฺคลฺ + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า” 

(3) ปุคฺค (อาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็ม) + ลา (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย, ลบ อา ที่ ลา (ลา >

: ปุคฺค + ลา = ปุคฺคลา > ปุคฺคล + = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้) 

(4) ปูร (เต็ม) + คล (เคลื่อน), รัสสะ อู ที่ ปู-(ร) เป็น อุ แล้วลบ (ปูร > ปุร > ปุ), ซ้อน คฺ ระหว่าง ปูร + คล 

: ปูร > ปุร > ปุ + คฺ + คล = ปุคฺคล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man) 

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

(๒) “อากร

บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย 

: อา + กรฺ + = อากร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อากร : (คำนาม) หมู่, กอง, เช่น พลากร (พล + อากร); บ่อเกิด, ที่เกิด, เช่น ทรัพยากร ศิลปากร; ค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเรียกเก็บ เช่น อากรรังนก อากรมหรสพ; คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้ว หมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น ดารากร นรากร ทวิชากร ประชากร หรืออาจมีความหมายคงเดิมก็ได้ เช่น พระปฏิมากร.”

บุคคล + อากร = บุคคลากร > บุคลากร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุคลากร : (คำนาม) ตําแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่นในการบรรจุแต่งตั้ง เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือน เป็นต้น; ผู้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน. (อ. personnel).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “บุคลากร” เทียบคำอังกฤษว่า personnel

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล personnel เป็นบาลี ดังนี้: 

(1) sabhikagaṇa สภิกคณ (สะ-พิ-กะ-คะ-นะ) = หมู่ของคนจัดแจงงาน

(2) kicca-kārīmaṇḍala กิจฺจการีมณฺฑล (กิด-จะ-กา-รี-มัน-ดะ-ละ) = แวดวงของคนทำงาน

อภิปรายขยายความ :

โปรดสังเกตว่า “ปุคฺคล” ในภาษาไทย เมื่อใช้คำเดียวสะกดเป็น “บุคคล” ( ควาย 2 ตัว) แต่คำว่า “บุคคล” เมื่อมีคำว่า “อากร” มาสมาสข้างท้าย สะกดเป็น “บุคล” ( ควายตัวเดียว) คือเป็น “บุคลากร” ไม่ใช่ “บุคคลากร” นั่นคือเท่ากับ บุคล + อากร

แต่คำที่สะกดเป็น “บุคล” ( ควายตัวเดียว) เดี่ยวๆ ก็ไม่มีในพจนานุกรมฯ มีแต่ “บุคคล” ( ควาย 2 ตัว)

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

ยังไม่พบคำอธิบายตรงๆ (ราชบัณฑิตยสภาอาจมีคำอธิบายเหตุผลการสะกดคำนี้ไว้ในที่ใดที่หนึ่ง แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบ) แต่มีคำเทียบ กล่าวคือ คำว่า “บุคคล” เมื่อมีคำอื่นมาสมาสหรือเปลี่ยนรูป จะใช้ ควายตัวเดียว เช่น –

บุคลาธิษฐาน” มีคำว่า “อธิษฐาน” มาสมาสข้างท้าย “บุคคล” ใช้ ควายตัวเดียว ไม่ใช่ “บุคคลาธิษฐาน

บุคลิก” คือ บุคล + อิก ปัจจัย ใช้ ควายตัวเดียว ไม่ใช่ “บุคคลิก

แต่กรณีเช่นว่านี้ ทำไมจึงตัด ควายออกตัวหนึ่ง ก็ต้องหาคำอธิบายกันต่อไปอีก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รกคำ

: ดีกว่ารกคน

#บาลีวันละคำ (3,448)

20-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *