บาลีวันละคำ

โชฎึก (บาลีวันละคำ 3,449)

โชฎึก

ชื่อระดับเศรษฐี

อ่านว่า โช-ดึก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โชฎึก : (คำโบราณ) (คำนาม) ผู้มีความรุ่งเรือง, ผู้มีความสว่างไสว, เช่น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี, โชดึก ก็ว่า.”

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “โชฎึก” มาจากภาษาอะไร แต่บอกว่า “โชดึก ก็ว่า”

ตามไปดูที่คำว่า “โชดึก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โชดึก : (คำนาม) ผู้มีความรุ่งเรือง, ผู้มีความสว่างไสว, (คำโบราณ) โชฎึก. (ป. โชติก).”

ที่คำว่า “โชดึก” นี้ พจนานุกรมฯ บอกว่าบาลีเป็น “โชติก” 

โชติก” อ่านว่า โช-ติ-กะ รากศัพท์มาจาก ชุติ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), แผลง อุ ที่ ชุ ต้นธาตุเป็น โอ (ชุติ > โชติ)

: ชุติ + ณฺวุ > อก = ชุติก > โชติก (โช-ติ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง

อีกนัยหนึ่ง ในบาลีมีคำว่า “โชติ” เป็นคำนาม รากศัพท์มาจาก ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ชุ-(ตฺ) เป็น โอ (ชุตฺ > โชต

: ชุตฺ + อิ = ชุติ > โชติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ส่องลางดีลางร้าย” (2) “ผู้สว่าง” “ผู้รุ่งเรือง

โชติ” (ปกติเป็นอิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) แสงสว่าง, ความชัชวาล, แสง (light, splendour, radiance) 

(2) ดาว (a star) 

(3) ไฟ (fire) 

โชติ + อิก ปัจจัย, ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (โช)-ติ (โชติ > โชต

: โชติ > โชต + อิก = โชติก (โช-ติ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรุ่งเรือง

คำที่ประกอบด้วยสระ อิ หรือสระ อี ในบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย คนเก่าท่านนิยมแปลงเป็นสระ อึ มีหลายคำ เช่น –

กากณิก (กา-กะ-นิ-กะ) = กากณึก (กา-กะ-หฺนึก. ทรัพย์มีราคาเล็กน้อย)

จาริก (จา-ริ-กะ) = จารึก (ท่องเที่ยวไป)

ปจฺจนีก (ปัด-จะ-นี-กะ) = ปัจนึก (ข้าศึก, ศัตรู)

ผลิก (ผะ-ลิ-กะ) = ผลึก (แก้วผลึก, ตกผลึก)

สิกฺขา (สิก-ขา) = ศึกษา (การเล่าเรียนฝึกฝน)

อธิก (อะ-ทิ-กะ) = อธึก (ยิ่ง, เกิน, มาก, เพิ่ม, เลิศ)

อนีก (อะ-นี-กะ) = อนึก (กองทัพ)

ดังนั้น “โชติก” จึงเป็น “โชดึก

และคำว่า “โชดึก” นี้โบราณท่านใช้ ชฎา แทน เด็ก

ดังนั้น: โชติก = โชดึก > โชฎึก

คำว่า “โชฎึก” จึงมาจากบาลีว่า “โชติก” ด้วยประการฉะนี้

ขยายความ :

ในคัมภีร์มีกล่าวถึงเศรษฐีสำคัญหลายคน ที่มักเอ่ยถึงควบคู่กันเป็นชุดก็คือ โชติกเศรษฐี ชฏิลเศรษฐี โฆสกเศรษฐี 

คำว่า “โชดึก” หรือ “โชฎึก” จึงมีนัยเกี่ยวพันกับสถานะ “เศรษฐี” มาแต่โบราณ

ประวัติของโชติกเศรษฐีพร้อมทั้งสมบัติอันมโหฬารพันลึก ท่านพรรณนาไว้ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 8 เรื่องโชติกตฺเถรวตฺถุ ผู้สนใจใคร่รู้ว่าสมบัติของคนรวยแท้ๆ นั้นเป็นอย่างไร พึงขวนขวายหาอ่านเอาเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยาจกเทียม คือคนไม่มีจะให้แน่ๆ

: ยาจกแท้ คือ-ถึงมีก็ไม่คิดจะให้อะไรใคร

#บาลีวันละคำ (3,449)

21-11-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *