เรื่องไร้สาระ
เรื่องไร้สาระ
————
เราท่านทั้งหลายที่พูดได้ คงจะเคยพูดคำว่า “ไร้สาระ” กันมาแล้ว กล่าวคือ เมื่อเห็นใครทำอะไร พูดอะไร หรือคิดอะไร ไม่ถูกใจเรา หรือที่เราไม่เห็นด้วย เราก็จะบอกว่า “ไร้สาระ” หมายความว่า สิ่งที่เขาทำ-พูด-คิดนั้น ไม่มีประโยชน์-อย่างน้อยก็ในความเห็นของเรา
“ไร้สาระ” คำบาลีว่าอย่างไร?
คัมภีร์มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม ๒๙ ข้อ ๗๙๘ บอกคำที่หมายถึง “ไร้สาระ” ไว้ ๓ คำ คือ –
(๑) “อสาร” (อะ-สา-ระ)
(๒) “นิสฺสาร” (นิด-สา-ระ)
(๓) “สาราปคต” (สา-รา-ปะ-คะ-ตะ)
คัมภีร์สัทธัมมปัชโชติกา อันเป็นอรรถกถาของคัมภีร์มหานิทเทส ภาค ๑ หน้า ๑๗๘ ไขความคำทั้ง ๓ ไว้ดังนี้ –
(๑) อสาโรติ น สาโร สารวิรหิโต วา.
คำว่า อสาโร หมายความว่า ไม่เป็นแก่นสาร หรือเว้นจากแก่นสาร
(๒) นิสฺสาโรติ สพฺเพน สพฺพํ สารวิรหิโต.
คำว่า นิสฺสาโร หมายความว่า เว้นจากแก่นสารด้วยประการทั้งปวง
(๓) สาราปคโตติ สารโต อปคโต.
คำว่า สาราปคโต หมายความว่า ปราศจากแก่นสาร
จะเห็นได้ว่า แม้อธิบายแล้ว ความหมายก็ยังวนเวียนอยู่ใกล้ๆ กัน แยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไร
ผมขออธิบายโดยอัตโนมัตยาธิบาย ดังนี้ –
“อสาร” หมายถึง สิ่งนั้นไม่เป็นสาระหรือไม่มีสาระอยู่ในตัวเองมาแต่เดิม นี่คือ “ไร้สาระ” แท้ๆ
“นิสฺสาร” หมายถึง สิ่งนั้นเคยมีสาระอยู่ด้วย แต่บัดนี้สาระที่มีอยู่นั้นได้ออกไปจากตัวเสียแล้ว ตัวที่ยังอยู่จึงเรียกว่า “ไร้สาระ”
“สาราปคต” หมายถึง สิ่งนั้นเคยมีสาระอยู่ด้วย แต่บัดนี้ตัวเองได้ทิ้งสาระไว้ตรงนั้นแล้วออกไปที่อื่นเสียแล้ว ตัวเองที่ออกไปนั้นไม่มีสาระติดไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นตัวที่ “ไร้สาระ”
…………..
เพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่า “ไร้สาระ” ดียิ่งขึ้น ขอนำข้อความในคัมภีร์มหานิทเทสและคัมภีร์จูฬนิทเทสที่อุปมาสิ่งที่ “ไร้สาระ” ว่าเหมือนอะไรบ้างมาแสดงในที่นี้ ดังรายการต่อไปนี้ –
(๑) นโฬ = ต้นอ้อ
(๒) เอรณฺโฑ = ต้นละหุ่ง
(๓) อุทุมฺพโร = ต้นมะเดื่อ
(๔) เสตคจฺโฉ = ต้นรัก
(๕) ปาลิภทฺทโก = ต้นทองกวาว
(๖) ปุพฺพุฬกํ = ต่อมน้ำ (หยาดน้ำที่ตกลงเป็นโป่งเล็กๆ)
(๗) เผณุปิณฺโฑ = ฟองน้ำ (ฝ้าเหนือน้ำ)
(๘) มรีจิ = พยับแดด
(๙) กทลิกฺขนฺโธ = ต้นกล้วย
(๑๐) มายา = การแสดงกล
รายการ (๑) – (๕) และ (๙) เป็นต้นไม้ที่ไม่มีแก่น (แก่น = สาร) จึง “ไร้สาระ” ตรงตัว
รายการ (๖) และ (๗) เป็นสิ่งที่ไม่คงทนยั่งยืน คือมีอยู่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวก็หายไป จึง “ไร้สาระ”
รายการ (๘) มองเห็นแต่ไกล เหมือนมี แต่พอเข้าไปหาก็ไม่เห็น จึง “ไร้สาระ”
รายการ (๑๐) มายา คือการแสดงกล เหมือนจริง แต่ไม่จริง คือหาความจริงไม่ได้ จึงถือว่า “ไร้สาระ”
…………..
การจะเข้าใจสิ่งไรว่าเป็นสาระหรือไร้สาระ ท่านว่าขึ้นอยู่กับ “สังกัป” ที่เราแปลกันว่า “ความดำริ” ของแต่ละคน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺกปฺป” ว่า thought, intention, purpose, plan (ความคิด, ความจำนง, ความประสงค์, ความดำริ)
ถ้า “สังกัป” เป็นมิจฉา (wrong) ก็จะชักให้เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่ามีสาระ และเห็นสิ่งที่มีสาระว่าไร้สาระ กล่าวคือเห็นผิดจากความเป็นจริง ก็จะไม่พบสาระที่แท้จริง
ถ้า “สังกัป” เป็นสัมมา (right) ก็จะชักให้เห็นสิ่งที่มีสาระว่ามีสาระ เห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ กล่าวคือเห็นถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ก็จะได้พบสาระที่แท้จริง
ความที่กล่าวมานี้สมจริงดังพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ธรรมบท ยมกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑ ที่ว่า –
………………………………..
อสาเร สารมติโน
สาเร จาสารททสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ
มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา ฯ
ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระ ว่าไร้สาระ
ผู้นั้นมีความคิดผิดเสียแล้ว
ย่อมไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ
สารญฺจ สารโต ญตฺวา
อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ
สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา ฯ
ผู้ใดเข้าใจสิ่งที่เป็นสาระ ว่าเป็นสาระ
และเข้าใจสิ่งที่ไร้สาระว่าไร้สาระ
ผู้นั้นมีความคิดเห็นถูกต้อง
ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ
………………………………..
ในทางธรรม คัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๑๕๐ แสดงธรรมที่เป็น “สาระ” ว่ามี ๔ อย่าง คือ คือ –
(๑) ศีล: ควบคุมพฤติกรรมทางการกระทำและคำพูดให้อยู่กรอบที่ดีงาม
(๒) สมาธิ: ฝึกจิตให้ดิ่งนิ่งหนักแน่นมั่นคงในทางที่ดีงาม
(๓) ปัญญา: พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้รู้เท่าทันถูกต้องตามความเป็นจริง
(๔) วิมุตติ: จิตหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง อันเป็นผลมาจากความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ และปัญญา
…………..
ชวนคิดนิดหนึ่งครับ
ญาติมิตรที่อ่านเรื่องนี้คงจะสังเกตเห็นว่า ผม “อ้างคัมภีร์” หลายครั้ง ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อชวนให้คิดว่า ผู้ที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนาก็ดี ผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางพระศาสนาก็ดี เมื่อจะเอ่ยถึงเรื่องทางพระธรรมวินัย แหล่งข้อมูลที่จะทิ้งเสียมิได้ก็คือพระคัมภีร์
หลักคำสอนในพระศาสนาท่านบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ เราท่านไม่ใช่เจ้าของคำสอน แต่เป็นผู้ที่ชอบใจคำสอนของท่าน หน้าที่ของเราก็คือศึกษาคำสอนของท่านแล้วพยายามปฏิบัติตาม แล้วเอาคำสอนของท่านไปบอกกล่าวเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไป
เวลานี้ ผู้ที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนาก็ดี ผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางพระศาสนาก็ดี ไม่ค่อยนิยมศึกษาคัมภีร์ (ศึกษาด้วยเจตนาจะรู้ว่าท่านสอนอะไรสอนอย่างไร เพื่อจะได้ปฏิบัติตามได้ถูก) แต่นิยมแสดงความคิดเห็นตามอัตโนมัติ คือตนคิดอย่างไรและอยากพูดอะไร ก็แสดงออกไป หลักคำสอนในคัมภีร์ว่าไว้อย่างไรไม่สนใจ ไม่รับรู้
ถ้าประพฤติอย่างนี้กันมากๆ ความเห็นของตัวบุคคลก็จะสำคัญกว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ จะกลายเป็นว่าเอาคำสอนของบุคคลเข้าไปแทนที่คำสอนของพระพุทธเจ้า
ถึงตอนนั้น สภาพอย่างที่ท่านเล่าไว้ในเรื่อง “กลองอานกะ” (-อา-นะ-กะ) ก็จะเกิดขึ้น
กลองอานกะนั้นตัวกลองยังคงรูปทรงเหมือนกลองใบเดิม แต่วัสดุที่ใช้ทำตัวกลองถูกเปลี่ยนแปลงจนหาเนื้อเดิมไม่เจอ
เหมือนศาสนาของพระพุทธเจ้า ปากก็เรียกกันว่า “พระพุทธศาสนา” แต่คำสอนแท้ๆ ของพระพุทธเจ้าคืออะไร อะไรคือสาระ อะไรคือไร้สาระ ปนกันจนหาเนื้อเดิมไม่เจอ
อยากรู้ว่าเรื่องกลองอานกะเป็นอย่างไร ก็ตามไปศึกษาได้จากอาณิสูตร คัมภีร์สังยุตนิกาย นิทานวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๖๗๒-๖๗๓ และอรรถกถาอาณิสูตร คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค ๒ หน้า ๓๕๗-๓๕๙
หรือจะคลิกไปอ่านที่ลิงก์ข้างล่างนี้ก่อนก็ได้
…………………………………
กลองอานกะ (๑)
https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/2922906527803065
…………………………………
การศึกษาพระคัมภีร์นั้น คนเรียนบาลีจะได้เปรียบคนที่ไม่รู้บาลี นั่นคือ คนไม่รู้บาลีจะศึกษาได้ก็จากที่มีผู้แปลไว้แล้ว (Secondary sources) เท่านั้น ผิดถูกอย่างไรยากที่จะวินิจฉัย แต่คนรู้บาลีสามารถศึกษาไปถึงต้นฉบับ (Primary sources) ได้เลย
ต้นฉบับคำสอนในพระศาสนาของเราท่านบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี และแหล่งวิทยาการที่บันทึกไว้เป็นภาษาบาลีก็มีแห่งเดียวเท่านั้นในโลก คือพระไตรปิฎก (รวมทั้งคัมภีร์อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ที่ขยายความออกมาจากพระไตรปิฎก)
ถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่า คนเรียนบาลี แต่ไม่ใช้ความรู้ที่เรียนมาเป็นอุปกรณ์ศึกษาไปให้ถึงพระไตรปิฎก ต้องนับว่าเป็นเรื่องแปลกชนิดหนึ่ง
เหมือนคนเรียนเป็นหมอ แต่ไม่ขอรักษาคนป่วยนั่นแล
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
๑๔:๒๗
…………………………………….