ครหิตปิฏฐิปาสาณ (บาลีวันละคำ 3,451)
ครหิตปิฏฐิปาสาณ
น่าจะแปลว่า “ลานหินถุย”
อ่านว่า คะ-ระ-หิด-ปิด-ถิ-ปา-สาน
แยกศัพท์เป็น ครหิต + ปิฏฐิ + ปาสาณ
(๑) “ครหิต”
บาลีอ่านว่า คะ-ระ-หิ-ตะ เป็นรูปคำกิริยากิตก์ (กริยาชนิดหนึ่งในภาษาบาลี คู่กับ กิริยาอาขยาต) รากศัพท์มาจาก ครหฺ (ธาตุ = ตำหนิ, ติเตียน, นินทา) + ต ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ครหฺ + อิ + ต)
: ครหฺ + อิ + ต = ครหิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาติเตียนแล้ว” หมายถึง ถูกตำหนิ (blameworthy)
“ครหิต” อ่านแบบไทยว่า คะ-ระ-หิด คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
แถม :
“ครหิต” รูปคำกิริยาอาขยาตสามัญ (ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) เป็น “ครหติ” (คะ-ระ-หะ-ติ) แปลว่า ติเตียน, กล่าวโทษ, ดุด่า, ตำหนิ (to reproach, to blame, scold, censure, find fault with)
(๒) “ปิฏฐิ”
อ่านว่า ปิด-ถิ รากศัพท์มาจาก ปิฏฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง ต เป็น ฐ (ติ > ฐิ)
: ปิฏฺ + ติ = ปิฏฺติ > ปิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะที่เบียดเบียน” (คือปวดเมื่อยอยู่ร่ำไป) (2) “อวัยวะที่เบียดเบียนทุกข์ที่ไม่เท่ากัน” (คือเดี๋ยวก็เป็นทุกข์แบบนั้น เดี๋ยวก็เป็นทุกข์แบบนี้)
“ปิฏฺฐิ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) หลัง (the back)
(2) ยอด, ข้างบน (top, upper side)
(3) นอกเหนือ, บนหลัง (on top of)
(๓) “ปาสาณ”
บาลีอ่านว่า ปา-สา-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สณฺ ธาตุ = สมคบ, ติดกัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป เป็น อา (ป > ปา) และ อะ ที่ ส-(ณฺ) เป็น อา (สณฺ > สาณ)
: ป + สณฺ = ปสณฺ + ณ = ปสณฺณ > ปสณ > ปาสณ > ปาสาณ แปลตามศัพท์ว่า “หินที่แผ่ไป”
(2) ปสฺ ธาตุ = ผูก, ติด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), “ทีฆะต้นธาตุ” คือ อะ ที่ ป-(สฺ) เป็น อา (ปสฺ > ปาส) แล้วทีฆะ อะ ที่ (ป)-ส เป็น อา (ปส > ปาส > ปาสา), แปลง น เป็น ณ
: ปสฺ + ยุ > อน = ปสน > ปาสน > ปาสาน > ปาสาณ แปลตามศัพท์ว่า “หินที่ติดกัน”
“ปาสาณ” (ปุงลิงค์) หมายถึง ก้อนหิน, แผ่นหิน (a rock, stone)
การประสมคำ :
๑ ปิฏฺฐิ + ปาสาณ = ปิฏฺฐิปาสาณ (ปิด-ถิปา-สา-นะ) แปลว่า “แผ่นหินอันเป็นหลัง” ใช้ในความหมายดังนี้
(1) แผ่นศิลาแบนๆ หรือก้อนหินแบน (a flat stone or rock)
(2) ที่ราบสูง (plateau)
(3) สันเขา (ridge)
ในที่นี้ใช้ในความหมายว่า แผ่นศิลาแบนๆ หรือก้อนหินแบน สามารถใช้เป็นที่นั่งได้ ถ้ามีขนาดกว้างมากก็เป็นลานหิน เป็นที่นั่งนอนหรือทำกิจกรรมบนนั้นได้ แผ่นหินชนิดนี้คำเก่าเรียกว่า หินดาด
๒ ครหิต + ปิฏฺฐิปาสาณ = ครหิตปิฏฺฐิปาสาณ (คะ-ระ-หิ-ตะ-ปิด-ถิ-ปา-สา-นะ) แปลว่า “แผ่นหินอันบุคคลติเตียนแล้ว”
ขยายความ :
คำว่า “ครหิตปิฏฺฐิปาสาณ” เป็นคำศัพท์บาลีที่ปรากฏในอรรถกถาชาดกเรื่องหนึ่ง ชื่อ “ครหิตชาดก” (ชาตกัฏฐกถา ภาค 3 หน้า 289 [ฉบับ BUDSIR 7 หน้า 247])
เรื่องย่อๆ มีว่า พระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นวานร ถูกพรานจับไปถวายพระราชา พระราชาทรงเลี้ยงไว้ในวัง วานรได้เห็นพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ต่อมาพระราชารับสั่งให้เอาวานรไปปล่อยในป่าตามเดิม ฝูงวานรไปชุมนุมกันที่ลานหิน (ปิฏฐิปาสาณ) แห่งหนึ่ง ขอให้วานรโพธิสัตว์เล่าเรื่องมนุษย์ให้ฟัง ทีแรกวานรโพธิสัตว์ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ตนได้เห็นมาอันมีแต่ความโลภโกรธหลงนั้นเป็นที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อหมู่วานรคะยั้นคะยอก็จึงเล่า
หมู่วานรได้ฟังเรื่องของมนุษย์ที่วานรโพธิสัตว์เล่าแล้ว ก็พากันตำหนิมนุษย์เป็นอันมาก แล้วยังตำหนิลานหินอันเป็นที่ชุมนุมฟังนั้นด้วย ว่าเป็นสถานที่ที่พวกตนได้ฟังเรื่องที่น่ารังเกียจ เมื่อตำหนิแล้วก็พากันทิ้งลานหินนั้นไป
ท่านว่าตั้งแต่นั้นมา ลานหินแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า “ครหิตปิฏฐิปาสาณ” อ่านแบบไทยว่า คะ-ระ-หิด-ปิด-ถิ-ปา-สาน
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่าน่าจะแปลตามศัพท์ได้ว่า “ลานหินถุย” หมายถึง ลานหินที่ถูกถ่มถุยด้วยความรังเกียจ
เห็นว่ารูปศัพท์ขำดี และเรื่องในชาดกก็เป็นคติดี จึงเก็บมาฝากญาติมิตร
…………..
…………..
ท่านที่ไม่รังเกียจบาลี จะจำไว้พูดเล่นสนุกๆ อีกสักคำ ก็น่าจะไม่เสียหายอันใด
เวลาเห็นใครเปิดเวทีนินทาชาวบ้านกันสนุกปาก จะตั้งชื่อให้ว่า “ครหิตปิฏฐิปาสาณ” ก็คงครึกครื้นดีเหมือนกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าเลือกฟังแต่เรื่องที่เรารู้
: ในที่สุดเราจะไม่รู้เรื่องที่เราฟัง
#บาลีวันละคำ (3,451)
23-11-64
…………………………….