สวดมนต์ (บาลีวันละคำ 1,248)
สวดมนต์
ภาษาบาลีว่าอย่างไร
(๑) “สวด” เป็นคำไทย ตรงกับบาลีว่า “สชฺฌาย”
“สชฺฌาย” อ่านว่า สัด-ชา-ยะ รากศัพท์มาจาก ส (มี, พร้อม, ของตน) + อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) อิ (ธาตุ = สวด, ศึกษา) + อ ปัจจัย, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ –ฌ เป็น อา (สชฺฌ > สชฺฌา)
: ส + อธิ > อชฺฌ = สชฺฌ + อิ > ย = สชฺฌย > สชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสวดพร้อมหมดอย่างยิ่ง” “การศึกษาอย่างยิ่ง (ซึ่งมนตร์) ของตน”
“สชฺฌาย” หมายถึง การสาธยาย, การสวด, การท่อง (repetition, rehearsal study)
(๒) “มนต์”
บาลีเป็น “มนฺต” อ่านว่า มัน-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ต ปัจจัย
: มนฺ + ต = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้”
(2) มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา) + อ ปัจจัย
: มนฺต + อ = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษา”
“มนฺต” ในภาษาบาลีมีความหมายดังต่อไปนี้ –
1. ความหมายเดิม คือ คำพูดหรือคำตัดสินของเทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วกลายมาเป็นประมวลคำสอนที่เร้นลับของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระเวท (a divine saying or decision, hence a secret plan)
2. คัมภีร์ศาสนา, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)
3. ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม, เสน่ห์, คาถา (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)
4. คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)
5. เล่ห์เหลี่ยม, ชั้นเชิง (a charm, an effective charm, trick)
6. สูตรวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ (เช่น H2O = น้ำ หรือแม้แต่สูตรคูณ ก็อยู่ในความหมายนี้) (law)
7. ปัญญา, ความรู้ (wisdom, knowledge, insight, discernment)
“มนฺต” ใช้ในภาษาไทยว่า มนต์, มนตร์ (มน) และเข้าใจกันแต่เพียงว่าหมายถึง “คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์”
“สวดมนต์” ตรงกับคำบาลีว่า “มนฺตสชฺฌาย” (มัน-ตะ-สัด-ชา-ยะ)
มนฺต + สชฺฌาย = มนฺตสชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสาธยายมนต์” หรือแปลตรงตัวว่า “สวดมนต์” นั่นเอง
การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีมูลเหตุมาจากการสาธยายพระสูตรหรือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อมิให้ลืมเลือนอย่างหนึ่ง และเพื่อตรวจสอบข้อความให้ถูกต้องตรงกันอีกอย่างหนึ่ง
: สวดมนต์เพื่อทบทวนความรู้ จะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
: สวดมนต์เพื่อเจริญสมาธิสติ ธรรมะก็ผลิเบ่งบาน
: สวดมนต์เพื่อขลัง ยังต้องนุงนังไปอีกนาน
————
(อธิบายเร่งด่วนตามประสงค์ของพระคุณท่าน So Phom)
29-10-58