ไวยาวัจกรนฤมาน จักรวาลนฤมิต
ไวยาวัจกรนฤมาน จักรวาลนฤมิต
———————————
คิดเล่นๆ แต่อยากให้เป็นจริงๆ
…………………………….
ผมเขียนเรื่องในชุดคำพยากรณ์สังฆมณฑล ตอน “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” ค้างไว้ พอดีเรื่องนี้แซงคิวขึ้นมาในความคิด จึงขออนุญาตเสนอเรื่องนี้ก่อน แล้วค่อยย้อนไปต่อ “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” ขออภัยในความไม่ปกติมา ณ ที่นี้
…………………………….
ผมได้เห็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสภาที่ผู้คนกำลังพูดกันอยู่เยอะในเวลานี้ คือคำว่า “จักรวาลนฤมิต” ก็เลยเอาไปเขียนเป็นบาลีวันละคำไปเมื่อวานนี้ (๕ ธันวาคม ๒๕๖๔)
ทีแรกก็ไม่ได้คิดอะไร แต่วันนี้ (๖ ธันวาคม ๒๕๖๔) กินข้าวเช้าเสร็จแล้ว ขณะกำลังล้างถ้วยล้างชาม (ที่บ้าน ผมมีหน้าล้างชาม ตามหลักการแบ่งงานกันทำ) ใช้สติกำหนดอิริยาบถไป แต่สติอ่อน จิตแวบไปคิดคำคล้องจองที่ตั้งไว้เป็นชื่อเรื่อง
“ไวยาวัจกรนฤมาน จักรวาลนฤมิต”
ตามที่ผมเข้าใจ “จักรวาลนฤมิต” (metaverse) หมายถึง โลกเสมือนจริงที่ใช้กลไกไฮเทคสร้างขึ้น ไม่ใช่ของจริง แต่เราสัมผัสได้เสมือนของจริง
ยกตัวอย่าง-เราอยากเห็นประเทศอเมริกา
ถ้าเป็นสมัยโบราณ ก็ต้องดูจากภาพที่ช่างเขียนเขาวาดขึ้นให้เห็นว่า บ้านเมืองอเมริกาเป็นอย่างนี้ ผู้คนหน้าตาแบบนี้ แต่ไม่ใช่คนจริง ไม่ใช่บ้านเมืองจริง
ถัดจากโบราณ ก็อาจดูได้จากภาพถ่าย เป็นภาพที่ถ่ายมาจากของจริง เหมือนได้เห็นของจริง
ใกล้เข้ามาอีก ดูจากภาพยนตร์ เห็นภูมิสถานบ้านเมืองในมุมต่างๆ เหมือนเราไปเดินดูของจริง ได้เห็นผู้คนกำลังเคลื่อนไหวแบบที่เราเห็นคนจริง แถมได้ยินเสียงด้วย เช่นเสียงคนพูด เสียงร้องเพลง เสียงรถแล่น เสียงยิงปืน
คราวนี้มาถึงสมัยทุกวันนี้ มีระบบสื่อสาร เป็นต้นที่เรียกกันว่า วีดิโอคอล (Video Call) หรือออนไลน์ (Online) คนอยู่เมืองไทยมองเห็นประเทศอเมริกา เห็นหน้าตาคนจริงๆ เห็นสถานที่จริงๆ ในเวลาปัจจุบัน พูดกันคุยกันได้จริงๆ เหมือนนั่งอยู่ใกล้ๆ กัน
ตอนนี้ทำได้ในขั้นได้เห็นตัวและได้ยินเสียง แต่ในขั้นได้กลิ่นหรือดมกลิ่นของจริงได้ ถ้าเป็นอาหารก็ใส่ปากกินได้จริงๆ สัมผัสจับต้องตัวจริงๆ ของจริงๆ ที่เห็นอยู่นั้นได้ ในขั้นนี้ยังทำไม่ได้ ผมเข้าใจว่า ตามแผนหรือตามความหวังของ “จักรวาลนฤมิต” ก็คือหวังจะทำได้ถึงขั้นที่ว่านี้จริงๆ
แล้วมาเกี่ยวกับ “ไวยาวัจกรนฤมาน” ตรงไหน?
เข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า “ไวยาวัจกร” คือคนที่ทำหน้าที่รับเงินจ่ายเงินแทนพระเณร อาจจะมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่น “กัปปิยการก” แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างไรก็ขอให้เข้าใจตรงกันว่า-หมายถึงคนที่ทำหน้าที่นั้น-หน้าที่รับเงินจ่ายเงินแทนพระเณร
มีพุทธบัญญัติกำหนดไว้ว่า ห้ามพระภิกษุสามเณรรับเงินจ่ายเงินซื้อขายเหมือนชาวบ้าน แต่มีพุทธานุญาตให้ไวยาวัจกรทำหน้าที่แทนได้
เพราะฉะนั้น ใครที่เข้าใจว่า พระภิกษุสามเณรรับเงินจ่ายเงินไม่ได้นั้น ขอได้โปรดเข้าใจให้ตลอดให้ตรงกับหลักพระวินัยนะครับ
พระภิกษุสามเณรรับเงินจ่ายเงินได้ โดยผ่านไวยาวัจกร คือให้ไวยาวัจกรทำแทน
คนสมัยก่อนเขารู้หลักพระวินัยข้อนี้ เพราะฉะนั้น วัดต่างๆ จะมีชาวบ้านจิตอาสาเข้าไปทำหน้าที่นี้ สมัยก่อนเรียกกันว่า “อุปัฏฐาก”
สมัยนี้ พรบ.คณะสงฆ์กำหนดให้เจ้าอาวาสมีอำนาจตั้งไวยาวัจกร ก็เท่ากับกำหนดว่า วัดทุกวัดต้องมีไวยาวัจกรนั่นเอง
แต่จะเป็นเพราะอะไรก็ไม่ทราบ ถ้าเรียกตามสำนวนทองย้อยก็คงจะต้องว่า-เพราะความ “รักง่าย” หรือพูดไม่อ้อมค้อมก็คือ-เพราะความมักง่าย ทั้งชาววัดชาวบ้านพากันเห็นว่า การรับจ่ายเงินผ่านไวยาวัจกรเป็นเรื่องยุ่งยาก มากเรื่อง เร่อร่า รุ่มร่าม รุงรัง ขัดข้อง ขลุกขลัก
แค่ถามว่า-จะหาไวยาวัจกรมาหิ้วย่ามตามไปรับจ่ายเงินแทนพระเณรทุกรูปทุกหนทุกแห่งได้อย่างไรกัน-แค่นี้ก็หน้ามืดแล้ว
เพราะฉะนั้น เราก็เลยใช้วิธีถวายเงินใส่มือพระไปตรงๆ-ดังที่นิยมเอาเงินใส่บาตรกันทุกเช้าในเวลานี้เป็นต้น ข้างพระเณรก็นิยมรับเงินจ่ายเงินกันตรงๆ ด้วยเหตุผลที่ทุกคนทุกฝ่ายพากันยกมือสนับสนุนกันอยู่ทั่วไปในเวลานี้ เกิดเป็นความเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติหรือ “ศีล” ข้อนี้เพียงข้อเดียวไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรือเสียหายอะไรสักหน่อย เรื่องสำคัญกว่านี้ยังมีอีกเยอะ เรื่องแค่นี้จะมาเคร่งครัดอะไรกันนักกันหนา
ผมเคยเสนอแนวคิดจัดทำ “บัตรปวารณา” หลักการเดียวกับบัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม ให้พระพกติดตัวไว้รูดแทนการจ่ายเงิน
บัตรปวารณาไม่ใช่เงิน เพราะฉะนั้น พระเณรจับได้ถือได้พกติดย่ามได้ แต่รูดเป็นเงินไม่ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ
“บัตรปวารณา” รูดได้เฉพาะรายการที่เขียนโปรแกรมลงไปในบัตรเท่านั้น และโปรแกรมที่จะเขียนลงไปในบัตรมีอะไรบ้างคณะสงฆ์ไทยจะเป็นผู้กำหนด นั่นคือเท่ากับกำหนดกรอบขอบเขตว่าพระเณรควรจะซื้ออะไรจ่ายอะไร ไม่ใช่จ่ายตามใจชอบเหมือนชาวบ้าน เพราะวิถีชีวิสงฆ์กับวิถีชีวิตชาวบ้านย่อมแตกต่างกัน เมื่อสมัครเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ก็ควรต้องพร้อมที่จะใช้ชีวิตตามแบบวิถีชีวิตสงฆ์ ถ้าไม่พร้อม ไม่สะดวก ไม่ไหว ก็มีสิทธิ์ที่จะถอยออกไป นี่เป็นหลักการของผู้ที่เจริญแล้ว
แต่แนวคิดนี้ (แนวคิดบัตรปวารณา) เหมือนกระสุนด้าน ยิงไม่ออก ไม่มีใครขานรับ ไม่มีใครเอาไปคิดต่อ
ผมเคยขายไอเดียนี้ให้คนที่ทำงานธนาคาร เขาเห็นด้วยและยืนยันว่าเป็นแนวคิดที่สามารถทำได้ แต่คนที่จะเอาไปทำให้เป็นจริงขึ้นมา ก็ยังไม่มีอยู่นั่นเอง
ครั้นพอมาเห็นแนวคิด “จักรวาลนฤมิต” ผมก็เกิดความหวัง-เหมือนเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์
ก็ถ้าเรื่องกว้างใหญ่ระดับจักรวาล คนยังสามารถ “นฤมิต” คิดอ่านทำให้เป็นจริงได้ ก็แล้วแค่เรื่องงานของไวยาวัจกรผู้ทำหน้าที่รับจ่ายเงินแทนพระเณร-กรอบแคบๆ แค่นี้ทำไมจะ “นฤมาน” ขึ้นมาไม่ได้เล่า
หลักการก็คือ สร้างกลไกไฮเทคอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่งให้สามารถทำงานได้เหมือนไวยาวัจกรตัวจริง กลไกไฮเทคหรือ “ไวยาวัจกรนฤมาน” นี้ พระเณรใส่ย่ามพกพาได้สะดวก ถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องรับเงินจ่ายเงิน ก็สามารถควักออกมาใช้ให้ทำหน้าที่ไวยาวัจกรได้เท่าๆ กับที่มีไวยาวัจกรตัวจริงหิ้วย่ามตามหลังมาด้วยนั่นเลย
ถ้าทำได้ คำพูดกระแหนะกระแหนว่า-โยมพูดดีนักนี่ ช่วยมาเป็นไวยาวัจกรให้อาตมาทีสิ-ก็จะหมดไป
ผมไม่สงสัยแม้แต่นิดเดียว ศักยภาพของมนุษย์สมัยนี้ทำได้แน่ๆ
แต่ภูเขาลูกมหึมาที่ขวางหน้าอยู่ก็คือ ความคิด-ความเคยชินของชาววัดชาวบ้านนั่นเอง ถวายเงินรับเงินจ่ายเงินเองตรงๆ สะดวกสบายกว่ากันเยอะเลย
พอคิดอย่างนี้ –
ความคิดของชาววัดที่จะพยายามรักษาพุทธบัญญัติ ก็ไม่เกิด
ความคิดของชาวบ้านที่จะพยายามถวายกำลังใจให้พระเณรมีอุตสาหะรักษาพุทธบัญญัติ ก็ไม่เกิด
อุปมาเหมือน-ปีนรั้วสะดวกกว่าเดินไปออกทางประตู
รั้วอยู่ตรงหน้านี่แล้ว เดินสองก้าวก็ถึงแล้ว ปีนก็แสนสะดวก
ประตู ต้องเดินไปอีกตั้งไกลกว่าจะถึง
ไวยาวัจกรเปรียบเหมือนประตูที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดไว้ให้
ถ้าไม่มีความคิดที่จะไปให้ถึงประตู ก็จะต้องปืนรั้วกันอยู่ตรงนี้ตลอดไป แต่ถ้าเราช่วยกันถวายกำลังใจให้พระเณรมีอุตสาหะเดินไปออกทางประตู แม้ไกลหน่อยลำบากหน่อย แต่เมื่อมีความคิดที่จะไปให้ถึงแล้วออกเดิน สักวันหนึ่งมันก็จะต้องถึงจนได้
ยังมีภูเขาลูกอื่นๆ อีกที่มักจะมีคนลากเอามาขวางทาง เช่นความคิดแย้งที่ว่า ทำอย่างนี้เดี๋ยวมันก็จะเป็นอย่างนั้น ทำอย่างนั้นเดี๋ยวมันก็จะเป็นอย่างโน้น ทีเรื่องนั้นเรื่องโน้นที่สำคัญกว่านี้พระเณรยังทำแบบนั้นแบบโน้นได้ กะอีเรื่องแค่นี้จะต้องมาทำเป็นเรื่องใหญ่อะไรกันนักเชียว
สรุปก็คือ ไม่ต้องไปออกประตูให้ยุ่งยาก ปีนรั้วนี่แหละสะดวกที่สุดแล้ว
ในยุคสมัยที่กลไกไฮเทคก้าวหน้ารวดเร็วอย่างนี้ แนวคิดของผมก็คือ ถวายกำลังใจให้พระภิกษุสามเณรดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ในสังคมสมัยใหม่ได้สะดวกดีด้วย พร้อมกันนั้นก็ให้ท่านมีอุตสาหะรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ด้วย โดยพยายามหาช่องทางใช้ความก้าวหน้าของกลไกไฮเทคเข้ามาช่วยส่งเสริมสนับสนุน-ดังเรื่อง “ไวยาวัจกรนฤมาน” ที่แสดงมานี้เป็นตัวอย่าง
…………….
ผมไม่กลัวที่จะถูกหาว่า-คิดบ้าอยู่คนเดียว
ในอดีตกาลนานไกล ก็เคยมีคนคิดบ้าๆ และทำบ้าๆ แบบนี้ นั่นคือพระมหาชนกโพธิสัตว์ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระมหาชนกเรือแตกกลางทะเล ว่ายน้ำอยู่ ๗ วันทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จลบศูนย์ แต่ท่านก็ทำ
ลองฟังเหตุผลของท่านดู –
…………………………….
อนโณ ญาตีนํ โหติ
เทวานํ ปิตุนญฺจ โส
กรํ ปุริสกิจฺจานิ
น จ ปจฺฉานุตปฺปติ.
เมื่อได้ลงมือพยายามเต็มที่แล้ว แม้จะตาย
ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือแม้เทวดาก็ตำหนิไม่ได้
เมื่อทำหน้าที่อย่างที่มนุษย์จะพึงทำแล้ว
ย่อมไม่เสียใจในภายหลัง (ว่าเราไม่น่างอมืองอเท้าเลย!)
อปารเณยฺยมจฺจนฺตํ
โย วิทิตฺวาน เทวเต
น รกฺเข อตฺตโน ปาณํ
ชญฺญา โส ยทิ หาปเย.
ผู้ที่รู้ว่างานที่ทำอาจจะไม่สำเร็จลุล่วง
ถ้าเขาละความพยายามที่จะลงมือทำเสีย
ก็ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน
เขาก็จะรู้ว่าความเกียจคร้านก่อให้เกิดผลอะไร
อธิปฺปายผลํ เอเก
อสฺมึ โลกสฺมิ เทวเต
ปโยชยนฺติ กมฺมานิ
ตานิ อิชฺฌนฺติ วา น วา.
ในโลกนี้ยังมีคนบางพวก
ที่เชื่อว่าความมุ่งหวังของตนจะต้องสำเร็จผล
เขาจึงลงมือทำสิ่งที่ควรทำ
ไม่ว่างานที่ทำนั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
โส อหํ วายมิสฺสามิ
ยถาสตฺติ ยถาพลํ
คจฺฉํ ปารํ สมุทฺทสฺส
กสฺสํ ปุริสการิยํ.
เราจักพยายามให้สุดกำลัง
จักทำหน้าที่อย่างที่มนุษย์ควรทำ
ไปให้ถึงฝั่งมหาสมุทรให้จงได้
ที่มา: มหาชนกชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๔๔๕-๔๔๗
…………………………….
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๖ ธันวาคม ๒๕๖๔
๑๕:๐๙
………………………………….