บาลีวันละคำ

ทิด (บาลีวันละคำ 3,465)

ทิด

คำสั้นนิด แต่ต้องคิดยาวหน่อย

คำนี้เขียนคำอ่านก็เขียนได้เท่าตัว คือ “ทิด” อ่านว่า ทิด

เห็นคำว่า “ทิด” ก็ต้องรู้ว่าออกเสียงอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ทิด : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระ เช่น ทิดบุญ ทิดเกิด.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่ บอกไว้ว่า – 

ทิด : (คำนาม) คำนำหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระ เช่น ทิดบุญ ทิดเกิด. (กร่อนมาจากคำว่า บัณฑิต).”

นั่นคือ พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 เพิ่มคำในวงเล็บว่า “กร่อนมาจากคำว่า บัณฑิต” เป็นการให้ความรู้แก่ผู้อ่านว่า คำว่า “ทิด” มีที่มาอย่างไร

คำว่า “ทิด” ที่เป็นคำนำหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระ กร่อนมาจากคำว่า “บัณฑิต” ได้อย่างไร?

…………..

บัณฑิต” บาลีเป็น “ปณฺฑิต” อ่านว่า ปัน-ดิ-ตะ มีรากศัพท์มาได้หลายทาง เช่น :

(1) ปณฺฑา ( = ปัญญา) + อิต ( = ไป, ดำเนินไป, เกิดขึ้นพร้อม) ลบสระที่ ปณฺฑา (ปณฺฑา > ปณฺฑ

: ปณฺฑา > ปณฺฑ + อิต = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” “ผู้มีปัญญาเกิดพร้อมแล้ว

(2) ปฑิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ปฑิ > ปํฑิ) แล้วแปลงเป็น (ปํฑิ > ปณฺฑิ)

: ปฑิ > ปํฑิ > ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปสู่ความเป็นผู้ฉลาด” 

(3) ปณฺฑฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (ปณฺฑฺ + อิ + )

: ปณฺฑฺ + อิ = ปณฺฑิ + = ปณฺฑิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้จักประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

ความหมายของ “ปณฺฑิต” ในบาลีคือ สุขุม, ไตร่ตรอง, รอบรู้, ฉลาด, รู้ทัน, จัดเจน, หลักแหลม, รอบคอบ, ระมัดระวัง, ถี่ถ้วน, ชำนิชำนาญ, ช่ำชอง, ว่องไว, คล่องแคล่ว, มีความสามารถ, มีไหวพริบ, รู้จักคิด, รู้จักเหตุผล = รู้จักผิดชอบชั่วดีควรไม่ควร 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปณฺฑิต” เป็นอังกฤษว่า wise, clever, skilled, circumspect, intelligent.

ปณฺฑิต” ในภาษาไทยใช้ว่า “บัณฑิต” (บัน-ดิด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บัณฑิต : ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).”

ขยายความ :

ความหมายเดิมแท้ของ “บัณฑิต” ก็คือ ผู้มีสติปัญญา รู้จักผิดชอบชั่วดี เว้นชั่ว ประพฤติดีได้ด้วยตนเองและสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย

สังคมไทยถือว่า “วัด” เป็นสถาบันที่สั่งสอนอบรมคนให้รู้จักดำเนินชีวิตด้วยปัญญารู้จักผิดชอบชั่วดี ผู้ที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในวัดเมื่อลาสิกขาออกมา สังคมจึงนับถือว่าเป็น “บัณฑิต

ปัจจุบัน ความหมายของ “บัณฑิต” ในภาษาไทยมักหมายถึงผู้สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาเท่านั้น จะมีความรู้จักผิดชอบชั่วดีหรือไม่แทบจะไม่คำนึงถึง นับว่าเป็นการทำให้ความหมายของคำบาลีทรามลงอย่างน่าเสียดาย

คำว่า “บัณฑิต” นี้ แต่เดิมเราคงอ่านว่า บัน-ทิด ( มณโฑ ออกเสียงเหมือน ทหาร) ผู้เขียนบาลีวันละคำเอง เมื่อเริ่มอ่านหนังสือได้ก็อ่านคำว่า “บัณฑิต” ว่า บัน-ทิด 

ต่อมาเสียง “บัน” กร่อนหายไป ทำนองเดียวกับคำไทยอีกหลายคำที่กร่อนแบบนี้ บัน-ทิด จึงเหลือแต่ “ทิด” พยางค์เดียว นี่คือคำตอบว่า “บัณฑิต” กร่อนกลายเป็น “ทิด” ได้อย่างไร

คำว่า “ทิด” จึงเป็นคํานําหน้าชื่อผู้ที่สึกจากพระมาจนทุกวันนี้ คนเก่าเรียกผู้สึกจากพระว่า “ทิด” กันทั่วไปอย่างสนิทปาก ผู้เขียนบาลีวันละคำเมื่อลาสิกขา ญาติมิตรส่วนมากไม่ได้เรียก “ทิด” แต่เรียกว่า “มหา” (มหาย้อย) แต่พี่สาวยังเรียกแบบคนเก่า คือเรียก “ทิดย้อย” บางครั้งก็เรียกเต็มยศว่า “ไอ้ทิดย้อย” ไม่เคยเรียก “มหา” เลย

อาจเป็นเพราะคนรุ่นน้องเรียกผู้สึกจากพระโดยเพิ่มคำว่า “พี่” เข้าข้างหน้าเป็น “พี่ทิด” และเรียกเช่นนี้กันมาก ประกอบกับความรู้สึกที่ว่าคนที่บวชเรียนแล้วถือว่าเป็นผู้ใหญ่ จึงมักเรียกว่า “พี่ทิด” กันอย่างสนิทใจ คำว่า “พี่ทิด” จึงเป็นคำที่นิยมเรียกกันทั่วไปด้วย

การเรียกคนที่สึกจากพระว่า “ทิด” เป็นวัฒนธรรมทางภาษา-วัฒนธรรมของชาติอีกอย่างหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เปลี่ยนคำ ง่ายเหลือล้น

: เปลี่ยนคน ยากเหลือล้ำ

#บาลีวันละคำ (3,465)

7-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *