บาลีวันละคำ

สัมมนา (บาลีวันละคำ 300)

สัมมนา

อ่านว่า สำ-มะ-นา

สัมมนา” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบภาษาอังกฤษว่า seminar (เซม-อิ-นา)

ประกอบด้วย สํ (= พร้อมกัน) แปลงนิคหิตเป็น = สม (สำ) + มน (= ใจ, ความคิด) = สมฺมน เขียนแบบไทยว่า สัมมน แล้วทำเสียง –มน ให้เป็น –มนา เพื่อเลียนเสียงคำว่า seminar จึงเป็น “สัมมนา” เจตนาให้แปลว่า “ร่วมใจกันคิด” แรกเริ่มเป็นคำที่ใช้ในวงการศึกษาก่อน

ว่ากันว่า วงการบัญญัติศัพท์ภูมิใจกับคำนี้มากเพราะเลียนภาษาเดิมได้ใกล้เคียงทั้งเสียงทั้งความหมาย

พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ สอ เสถบุตร แปล seminar ว่า “หมู่นักศึกษามีศาสตราจารย์เป็นหัวหน้าซึ่งร่วมกันทำการวิจัย หรือถกเถียงปัญหา”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า “สัมมนา” ไว้ว่า

“การประชุมแบบหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และหาข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผลสรุปที่ได้ถือว่าเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ผู้เกี่ยวข้องจะนําไปปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้”

ความจริง “สัมมนา” แปลตามศัพท์ว่า “พร้อมใจกัน” คือคิดอะไรก็คิดเหมือนกัน ไม่ขัดใจกัน (ความหมายดูจะตรงกันข้ามกับ “ถกเถียงปัญหา”)

คำบาลีที่มีความหมายตรงกับ seminar ควรเป็น “สัมมันตนา” (สำ-มัน-ตะ-นา) ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ร่วมกันปรึกษาหารือ

ว่ากันว่า ตอนที่บัญญัติศัพท์ มีผู้เสนอคำ “สัมมันตนา” นี้ แต่ “ไม่ติด” เนื่องจากเสียงของคำไม่รื่นกลมกลืนกับ seminar เหมือน “สัมมนา

คำก็คล้ายดอกไม้ : บางชนิดหอม แต่ไม่สวย บางชนิดสวย แต่ไม่หอม

นานๆ จึงจะพบที่งามพร้อม ทั้งหอม ทั้งสวย

บาลีวันละคำ (300)

7-3-56

มโน, มน (บาลี-อังกฤษ)

ใจ, ความคิด

มนฺตนา (บาลี-อังกฤษ)

คำปรึกษา, การปรึกษาหารือ, การประชุมพิจารณา, คำแนะนำ, คำสั่ง

counsel, consultation, deliberation, advice, command

สัมมนา

น. การประชุมแบบหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และหาข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผลสรุปที่ได้ถือว่าเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ผู้เกี่ยวข้องจะนําไปปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ เช่น สัมมนาการศึกษาประชาบาล. (อ. seminar).

seminar (สอ เสถบุตร)

หมู่นักศึกษามีศาสตราจารย์เป็นหัวหน้าซึ่งร่วมกันทำการวิจัย หรือถกเถียงปัญหา

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย