บาลีวันละคำ

พักตร์ คือ face (บาลีวันละคำ 301)

พักตร์ คือ face

มีผู้แปลคำว่า facebook (แปลสนุกๆ) ว่า “พักตร์ปกรณ์” คือ face = พักตร์ และ book คือหนังสือ หรือตำรา = ปกรณ์

คำว่า “พักตร์” มาจากสันสกฤตว่า “วกฺตฺร” (วัก-ตฺระ)

1. สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล วกฺตฺร ว่า the face

2. พจนานุกรมอังกฤษ- ไทย ของ สอ เสถบุตร แปล face ว่า หน้า, โฉมหน้า, โฉม, ใบหน้า, หน้าตา, สีหน้า, เผชิญหน้า

3. พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล face เป็นบาลีว่า “มุข” (มุ-ขะ)

4. พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า “มุข” ว่า the mouth, the face (ตรงกับคำแปลของนักบาลีในไทย คือ “มุข” แปลได้ 2 ความหมาย คือ ปาก และ หน้า)

5. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 แปล “มุข” ว่า หน้า, ปาก

6. “พักตร์” มาจากสันสกฤตว่า “วกฺตฺร” คำนี้ตรงกับบาลีว่า “วตฺต” (วัด-ตะ) แปลว่า “ปาก”

สรุปว่า face คือ หน้า – หน้า คือ มุข – มุข คือ mouth – mouth คือ ปาก – ปาก คือ วตฺต – วตฺต คือ วกฺตฺร – วกฺตฺร คือ พักตร์ – พักตร์ คือ face และ face คือ หน้า …

ถ้างง : กรุณาย้อนกลับไปอ่านใหม่

————-

(อภินันทนาการแด่ หน่า น้อย ผู้กังขาว่า “พักตร์” เป็นภาษาอะไร)

บาลีวันละคำ (301)

8-3-56

พักตร-, พักตร์

 [พักตฺระ-] (ราชา) น. หน้า, ใช้ว่า พระพักตร์. (ส. วกฺตฺร).

มุข, มุข-

 [มุก, มุกขะ-] น. หน้า, ปาก; ทาง; หัวหน้า; ส่วนของตึกหรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า. (ป., ส.).

วกฺตฺร (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

“พักตร์”, หน้า the face

มุข (บาลี-อังกฤษ)

ปาก the mouth, หน้า the face

วทน

การพูด speech, คำกล่าว utterance

วตฺต ๒

ปาก the mouth (ตามตัว “ผู้พูด” “speaker”)

วตฺต ๓

เปิดกว้าง opened wide วตฺเต มุเข)

อานน

ปาก the mouth

face (สอ เสถบุตร)

หน้า, โฉมหน้า, โฉม, ใบหน้า, หน้าตา, สีหน้า, เผชิญหน้า

face (พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี)

วทน, อานน, มุข

วตฺต ๒ = ปาก (วทน, มุข, ตุณฺฑ, ลปน, อานน) (ศัพท์วิเคราะห์)

– วทติ เอเตนาติ วตฺตํ อวัยวะเป็นเครื่องพูด

วท ธาตุ ในความหมายว่าพูด ต ปัจจัย แปลง ท เป็น ต

– วุจฺจเต อเนนาติ วตฺตํ อวัยวะเป็นเครื่องกล่าววาจา

วจ ธาตุ ในความหมายว่ากล่าว, พูด ต ปัจจัย แปลง จ เป็น ต

มุข = ปาก, หน้า (วทน, วตฺต, ตุณฺฑ, ลปน, อานน) (ศัพท์วิเคราะห์)

มุขิยติ วิวริยตีติ มุขํ อวัยวะอันเขาเปิดเผย

มุข ธาตุ ในความหมายว่าเปิด, อ ปัจจัย

มุนนฺติ พนฺธนฺติ เอเตนาติ มุขํ อวัยวะเป็นเครื่องผูก

มุ ธาตุ ในความหมายว่าผูก ข ปัจจัย

วทน = ปาก (มุข, ตุณฺฑ, วตฺต, ลปน, อานน) (ศัพท์วิเคราะห์)

วทติ อเนนาติ วทนํ อวัยวะเป็นเครื่องพูด

วท ธาตุ ในความหมายว่าพูด ยุ ปัจจัย แปลง ยุ เป็น อน

อานน = ปาก (วทน, มุข, ตุณฺฑ, ลปน, วตฺต) (ศัพท์วิเคราะห์)

อนนฺติ อสฺสสนฺติ อเนนาติ อานนํ อวัยวะเป็นเหตุให้มีชีวิตอยู่

อา บทหน้า อน ธาตุ ในความหมายว่ามีชีวิต ยุ ปัจจัย

อสนฺติ อเนนาติ อานนํ อวัยวะเป็นเครื่องกิน

อส ธาตุ ในความหมายว่ากิน  ยุ ปัจจัย ทีฆะ อะ เป็น อา แปลง ส เป็น น

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย