อโหสิกรรม [1] (บาลีวันละคำ 299)
อโหสิกรรม [1]
อ่านว่า อะ-โห-สิ-กำ
“อโหสิ” ในภาษาบาลีเป็นคำกริยา อดีตกาล แปลว่า “ได้มีแล้ว” “ได้เป็นแล้ว” (ประธานของกริยาคำนี้ต้องเป็น “ผู้ที่พูดถึง” (คำไทยเช่น เขา, มัน) และเป็นเอกพจน์)
“อโหสิ – ได้มีแล้ว, ได้เป็นแล้ว” หมายความว่า เรื่องนั้น สภาวะนั้นได้เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว เช่น คนเกิด ก็เกิดเสร็จแล้ว เป็นอะไร ก็เป็นไปเรียบร้อยแล้ว ตาย ก็ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว เป็นต้น
อโหสิ + กมฺม (กำ-มะ) = อโหสิกมฺม เป็นคำพิเศษ คือคำกริยาประสมคำนามแล้วกลายเป็นคำนาม เป็นชื่อของกรรมที่ไม่มีโอกาสจะให้ผลอีกต่อไป เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “อโหสิกรรม” มีความหมายว่า การเลิกแล้วต่อกัน, การไม่เอาโทษแก่กัน, ยกโทษให้, ไม่ถือเป็นเหตุโกรธแค้นขุ่นเคืองกันอีกต่อไป บางทีก็พูดสั้นๆ ว่า “อโหสิ”
“อโหสิ” กับ “อภัย” มีความหมายทำนองเดียวกัน
อโหสิ : ชนะใจตัวเองได้ ก็ชนะโลกทั้งโลกได้
บาลีวันละคำ (299)
6-3-56
อโหสิ ก.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ได้มีแล้ว, ได้เป็นแล้ว
อโหสิกรรม (ประมวลศัพท์)
กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก ได้แก่กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่เลิกให้ผล เหมือนพืชที่หมดยาง เพาะปลูกไม่ขึ้นอีก (ข้อ ๔ ในกรรม ๑๒)
อโหสิ-กมฺม (บาลี-อังกฤษ)
การกระทำ หรือความผิด ที่ไม่มีกำลังต่อไปแล้ว หรือเลิกแล้วต่อกัน คือ อโหสิกรรม
(อโหสิกรรมถูกกล่าวว่าเป็นกรรมที่ยับยั้งโดยกรรมอื่นที่มีกำลังเหนือกว่า)
อโหสิ
[อะ-] ก. เลิกแล้วต่อกัน, ยกโทษให้.
อโหสิกรรม
[อะ-] น. กรรมที่เลิกให้ผล; การเลิกแล้วต่อกัน, การไม่เอาโทษแก่กัน. (ป. อโหสิกมฺม).
บุรุษ, บุรุษ-
[บุหฺรุด, บุหฺรุดสะ-] น. ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ; (ไว) คําบอกผู้พูด เรียกว่า บุรุษที่ ๑, คําบอกผู้ที่พูดด้วย เรียกว่า บุรุษที่ ๒, คําบอกผู้ที่พูดถึง เรียกว่า บุรุษที่ ๓. (ส. ปุรุษ; ป. ปุริส).