บาลีวันละคำ

ปุจฉา – วิสัชนา (บาลีวันละคำ 3,469)

ปุจฉาวิสัชนา

ถามมา-ตอบไป

อ่านว่า ปุด-ฉา วิ-สัด-ชะ-นา

(๑) “ปุจฉา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปุจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า ปุด-ฉา รากศัพท์มาจาก ปุจฺฉฺ (ธาตุ = ถาม) + (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: ปุจฺฉฺ + = ปุจฺฉ + อา = ปุจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “การถาม” “ข้อที่ควรถาม” หมายถึง คำถาม (a question) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปุจฉา : (คำกริยา) ถาม เช่น ขอปุจฉาพระคุณเจ้า. (ป.).”

(๒) “วิสัชนา

บาลีเป็น “วิสฺสชฺชน” อ่านว่า วิด-สัด-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺชฺ (ธาตุ = ตอบ, ชี้แจง; สละ, ละ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (วิ + สฺ + สชฺช

: วิ + สฺ + สชฺช = วิสฺสชฺชฺ + ยุ > อน = วิสฺสชฺชน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การตอบ” (2) “การสละอย่างวิเศษ

อภิปรายแทรก :วิสฺสชฺชน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “การสละอย่างวิเศษ” ในที่นี้ก็หมายถึงการแก้ปัญหานั่นเอง กล่าวคือ วาดเป็นภาพว่า ปัญหาหรือข้อสงสัยเปรียบเหมือนสิ่งที่ถูกผูกไว้ในใจ ผู้ตอบปัญหามาแก้เชือกที่ผูกความสงสัยนั้นออก นั่นคือสละความสงสัยออกไปจากใจ ดังนี้ “วิสฺสชฺชน” จึงหมายถึง การแก้ปัญหา หรือตอบปัญหา

วิสฺสชฺชน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การบริจาค, การมอบให้ (giving out, bestowing) 

(2) การส่งออก, การขับออก (sending off, discharging) 

(3) การวิสัชนา, การตอบ (answer, reply)

หลักภาษา :

วิสฺสชฺชน” ในบาลีอาจสะกดได้ถึง 4 แบบ คือ –

(1) “วิสฺสชฺชน” ดังที่สะกดในที่นี้

(2) วิสฺสชฺชน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “วิสฺสชฺชนา

(3) ไม่ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ สะกดเป็น “วิสชฺชน

(4) วิสชฺชน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “วิสชฺชนา

ในภาษาไทย คำนี้ใช้เป็น “วิสัชนา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิสัชนา : (คำกริยา) ตอบ, ชี้แจง, เช่น ขอวิสัชนาดังนี้. (ป. วิสชฺชนา).”

ขยายความ :

ปุจฉา” กับ “วิสัชนา” มักมาควบคู่กัน มี “ปุจฉา” แล้วต้องมี “วิสัชนา” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มี “วิสัชนา” ก็เพราะมี “ปุจฉา

ในคัมภีร์ แสดงประเภทของ “ปุจฉา” ว่ามี 5 อย่าง ดังนี้ –

…………..

(1) อทิฏฐโชตนาปุจฉา = คำถามเพื่อส่องลักษณะที่ยังไม่เห็นให้กระจ่าง (ยังไม่รู้เรื่องนั้นๆ มาก่อน ถามเพื่อหาข้อมูล)

(2) ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา = คำถามเทียบเคียงลักษณะที่เห็นแล้ว (พอรู้เรื่องนั้นๆ มาบ้าง ถามเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง)

(3) วิมติเฉทนาปุจฉา = คำถามเพื่อตัดความสงสัย (เพราะสงสัยจึงไต่ถาม, ถามเพราะอยากรู้โดยสุจริตใจ)

(4) อนุมติปุจฉา = คำถามเพื่อขอคำรับรอง เช่นให้รับรองว่าความเห็นความเชื่อของผู้ถามในเรื่องนั้นๆ ถูกต้อง (ถามหาพวก)

(5) กเถตุกัมยตาปุจฉา = คำถามเพราะผู้ถามประสงค์จะตอบเอง (ถามเองตอบเอง)

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 1 หน้า 105 (พรหมชาลสุตตวัณณนา)

…………..

ส่วน “วิสัชนา” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พยากรณ์” ท่านแบ่งประเภทไว้ 4 อย่าง ดังนี้ –

…………..

(1) เอกังสพยากรณ์ = ตอบตรงๆ หรือตอบเป็นคำขาดไม่อ้อมค้อม

(2) ปฏิปุจฉาพยากรณ์ = ย้อนถามให้ผู้ถามชี้ประเด็นออกมาก่อนแล้วจึงตอบ

(3) วิภัชชพยากรณ์ = ตอบแบบแยกประเด็นเป็นเรื่องๆ ไป

(4) ฐปนียพยากรณ์ = ตอบโดยไม่ตอบ เพราะเห็นว่าไร้สาระ หรือเห็นว่าผู้ถามไม่ได้ถามเพราะต้องการคำตอบ แต่ถามหาเรื่อง

ที่มา: สังคีติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกฺวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 11 ข้อ 255

…………..

แถม :

วิสัชนา” หรือวิธีตอบแต่ละอย่างต้องเลือกใช้ให้เหมาะกับ “ปุจฉา” แต่ละเรื่อง ไม่ใช่ทุกอย่างใช้ได้กับความสงสัยทุกเรื่อง เช่น ไม่ว่าใครจะถามเรื่องอะไร ไม่ตอบทั้งสิ้น แล้วอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหลัก “ฐปนียพยากรณ์” อย่างนี้ย่อมไม่ถูกต้อง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แก้ปัญหาด้วย (การลง) มือ (ทำ) กันให้มาก

: ก็จะแก้ปัญหาด้วยปากน้อยลง

#บาลีวันละคำ (3,469)

11-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *