ถือเอาสิ่งที่ทำกันมากๆ เป็นเกณฑ์
ถือเอาสิ่งที่ทำกันมากๆ เป็นเกณฑ์
———————————–
เมื่อวานนี้ (๙ ธันวาคม ๒๕๖๔) ผมเดินออกกำลังไปเจอโรงแรมสร้างใหม่ ชื่อเป็นอักษรฝรั่ง เห็นแต่ชื่อไม่สื่อว่าอยู่ในประเทศไหน เป็นของคนชาติไหน เพราะตัวอักษรฝรั่งอยู่ได้ทั่วโลก
อ่านออกเสียงว่าอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าผมไปบอกใครว่าเจอโรงแรมแห่งหนึ่ง ผมจะออกเสียงบอกชื่อโรงแรมแห่งหนึ่งนี้ว่าอย่างไร อาจต้องใช้วิธีเขียนให้ดู แล้วก็ต้องเขียนเป็นตัวอักษรฝรั่งด้วย เขียนเป็นอักษรไทยไม่ได้เพราะต้นฉบับเขาไม่ได้เขียนเป็นอักษรไทย หรือไม่ก็ต้องส่งภาพถ่ายให้ดู สื่อสารกันด้วยภาพ ไม่ต้องออกเสียง
ถ้าในเมืองไทยเป็นอย่างนี้ได้แห่งหนึ่ง ก็เป็นกับเรื่องอื่นๆ ได้หมด ดังนั้น อักษรไทยก็จะค่อยๆ หมดไป ต่อไปใครจะเขียนคำนี้ก็ใช้อักษรฝรั่งเขียน แล้วก็ใช้อักษรฝรั่งเขียนคำอื่นๆ กันอีก และในที่สุดจะไม่ใช่เฉพาะอักษรไทย หากแต่ภาษาไทยก็จะหมดไปด้วย
…………………..
แรกๆ ก็เขียนคำไทยเป็นอักษรแบบคาราโอเกะ เช่น “ไป” ก็สะกดเป็น pai แล้วบอกกันว่า pai คือ go
นานๆ เข้าคนไทยก็จะไม่พูดว่า “ไป” (pai) แต่จะพูดว่า go เพราะ go แปลว่า pai (ไป) คำว่า “ไป”(pai = go) ก็จะหายไปอีกคำหนึ่ง ไม่มีใครพูด เพราะใช้คำว่า go แทน
ด้วยกลไก-ความเป็นไปตามขั้นตอนแบบนี้ ทั้งอักษรไทย ทั้งภาษาไทย ก็จะค่อยๆ หมดไปในที่สุด
ไม่ใช่ว่าตื่นขึ้นพรุ่งนี้ก็หมด แต่อีกนาน นานพอที่หลายๆ คนจะเถียงได้เต็มปากว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ลุงนี่พูดเรื่อยเปื่อยตีตนก่อนไข้ไปได้
ดังนั้น อาจจะนานจนคนไทยรุ่นใหม่รุ่นนี้ตายหมดแล้วก็ได้ แต่ด้วยอาการที่เป็นไปแบบนี้ดำเนินไปโดยไม่หยุด มีแต่ขยายตัวขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะต้องไปถึงจุดที่ว่านั้นเข้าจนได้สักวันหนึ่ง-คือคนไทยไม่ใช้ตัวอักษรไทย และคนไทยไม่ใช้ภาษาไทย
…………………..
เวลานี้คนไทยส่วนมากแยกไม่ออกบอกไม่เป็นว่า “อักษร” กับ “ภาษา” ต่างกันอย่างไร เรียกตัวอักษรเป็น “ภาษา” หมด
อย่างชื่อผม เขียนเป็นตัวอักษรฝรั่งว่า Thongyoi ลองถามใครก็ได้ ร้อยทั้งร้อยจะบอกว่า “เขียนเป็นภาษาอังกฤษ”
ที่ถูกต้องคือ Thongyoi เป็นภาษาไทย เป็นคำไทย แต่เขียนเป็นตัวอักษรที่ใช้เขียนภาษาอังกฤษ ซึ่งพอจะอนุโลมเรียกว่า อักษรอังกฤษหรือตัวหนังสืออังกฤษ (ความจริงคืออักษรโรมัน) แต่แม้จะเขียนเป็นตัวอักษรอังกฤษ Thongyoi ก็ยังคงเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ
Thong คือ “ทอง” เป็นภาษาไทย เป็นคำไทย ภาษาอังกฤษที่หมายถึง “ทอง” คือ gold ไม่ใช่ Thong และถ้าในภาษาอังกฤษมีคำว่า Thong คำนั้นก็ไม่ได้หมายถึง “ทอง” ที่เป็นชื่อผม
Thong เป็นภาษาไทย
gold เป็นภาษาอังกฤษ
ลองคิดในทางกลับกัน
เขียนคำว่า gold เป็นอักษรไทย ก็เป็น “โกลด์”
ถามว่า “โกลด์” เป็นภาษาไทยหรือเปล่า
เปล่า ไม่ใช่ภาษาไทย
“โกลด์” แม้จะเขียนเป็นอักษรไทย แต่ก็ไม่ใช่ภาษาไทย เพราะ “โกลด์” (gold) เป็นภาษาอังกฤษ ฉันใด
Thong แม้จะเขียนเป็นอักษรอังกฤษ แต่ก็ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เพราะ Thong (ทอง) เป็นภาษาไทย ฉันนั้น
แยกออกหรือยังว่า “อักษร” กับ “ภาษา” ต่างกัน
คนส่วนมากแยกไม่ออก เหมาเอา “อักษร” เป็น “ภาษา” หมด ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูที่ชื่อของชาวเฟซบุ๊กนี่ก็ได้ ใครที่ชื่อเป็นคำไทย แต่เขียนเป็นอักษรอังกฤษ (อักษรโรมัน) มักจะพูดหรือบอกกันว่า “ชื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษ” ทั้งนั้น-ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้น พอเห็นคำที่เขียนเป็นอักษรอังกฤษก็เหมาหมดว่าเป็น “ภาษาอังกฤษ” ความเข้าใจเช่นนี้จึงกลายเป็นปุ๋ยอันโอชะช่วยให้ลืมภาษาไทย ทิ้งภาษาไทยได้ง่ายที่สุด และช่วยให้ภาษาอังกฤษเจริญงอกงามขึ้นแทนภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว
เวลานี้คนที่ไม่เห็นความจำเป็นของการบัญญัติศัพท์มีมากขึ้น เคยได้ยินหลายๆ ท่านแสดงจุดยืนอย่างแข็งขันว่า-จะต้องไปบัญญัติศัพท์ให้ยุ่งยากทำไม ใช้ทับศัพท์ไปเลย สะดวกที่สุด ง่ายที่สุดอยู่แล้ว บัญญัติไปก็ไม่มีใครใช้ เดี๋ยวนี้คนเขานิยมทับศัพท์กันทั่วโลกแล้ว
แนวคิดนี้สนองนิสัยชอบอะไรง่ายๆ ได้เป็นอันดี แล้วก็ได้ผลดีมากๆ ด้วย แรกๆ ก็ใช้ตัวอักษรไทยเขียนทับศัพท์ แต่ครั้นนานเข้าก็ทับศัพท์ทั้งดุ้น คือใช้อักษรฝรั่งเขียนคำนั้นเสียด้วยเลย
ชื่อโรงแรมที่ผมถ่ายมาเป็นพยานยืนยันได้ ความจริงแล้วหาพยานได้ทั่วไป ลองดูเอาเถิด เวลานี้สื่อต่างๆ ใช้คำฝรั่งด้วย ใช้ตัวหนังสือฝรั่งด้วยเกลื่อนไป
ผมจึงบอกไว้ข้างต้นว่า-ด้วยกลไก-ความเป็นไปตามขั้นตอนแบบนี้ ทั้งอักษรไทย ทั้งภาษาไทย ก็จะหมดไปในที่สุด
ทุกอย่างเป็นอนิจจัง-แบบที่นักนิยมธรรมะชอบยกขึ้นมาพูดนั่นแหละ ผมไม่ได้คิดจะยื้อถ่วงหน่วงเหนี่ยวหลงละเมอเพ้อพกให้ทุกอย่างจีรังยั่งยืนอยู่กับที่
เพียงแต่พยายามชวนให้คิด –
…………………..
รักษาสิ่งที่ควรรักษา
เห็นคุณค่าของสิ่งที่มีคุณค่า
…………………..
ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ ใครจะทำหรือไม่ทำ เชิญตามอัธยาศัยเถิด
…………………..
นอกจากประเด็นที่ว่ามา ผมยังมองเห็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะเกิดตามมาในอนาคต ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นเรื่องใหญ่กว่าเรื่องภาษาเสียอีก
นั่นก็คือ เมื่อยกเอาความสะดวกความง่ายเป็นที่ตั้ง และอ้างความนิยมทำกันทั่วโลกเป็นข้อสนับสนุนเช่นนี้แล้ว ค่านิยมเดิมของมวลมนุษย์จะหมดไป จะเกิดค่านิยมใหม่ นั่นคือ-ถือเอาสิ่งที่ทำกันมากๆ เป็นเกณฑ์
“ถือเอาสิ่งที่ทำกันมากๆ เป็นเกณฑ์” – โปรดช่วยกันจำไว้ให้ดี
เรียกเป็นคำบาลีว่า “สัมพหุลานิยม” ก็คงพอได้
หมายความว่าอย่างไร เรื่องจะเป็นอย่างไร?
เรื่องก็คือ-ต่อไป ผิด-ถูก ชั่ว-ดี โกง-ซื่อ พาล-บัณฑิต จะไม่มี
ใครจะยกเอาการกระทำอย่างใดๆ มาบอกว่า –
แบบนี้ผิด แบบนี้ถูก
แบบนี้ชั่ว แบบนี้ดี
แบบนี้โกง แบบนี้ซื่อ
แบบนี้พาล แบบนี้บัณฑิต
จะไม่มีใครยอมรับอีกต่อไป
จะมีแต่เรื่องที่คนทำกันมากๆ หรือคนส่วนมากเขาทำกัน ผู้คนจะอ้างกันอย่างนี้และถือหลักอย่างนี้กันทั่วไป
ตรงกับที่นิยมพูดกันในเวลานี้ว่า-ใครๆ เขาก็ทำกัน ที่ไหนๆ เขาก็ทำกัน
เพราะฉะนั้น ผิดถูกชั่วดี เลิกพูดกัน
เพราะค่านิยมแบบนี้ สิ่งที่จะอยู่ไม่ได้เป็นอันดับแรกก็คือ-ศาสนา
เพราะหลักของศาสนาก็คือสอนว่า-อย่างนี้ผิด อย่างนี้ถูก อย่างนี้ชั่ว อย่างนี้ดี
ก็เมื่อผิดถูกชั่วดีไม่มี มีแต่เรื่องที่ทำกันมากๆ คนส่วนมากทำกัน หรือ “ถือเอาสิ่งที่ทำกันมากๆ เป็นเกณฑ์” เสียแล้ว คำสอนของศาสนาก็ไม่มีประโยชน์
แนวคิด – “ศาสนาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด” นับว่าทันสมัยอย่างยิ่ง ผมเชื่อว่าเวลานี้ “ตัวแสดง” ในศาสนาของเรากำลังลงมือปรับตัวกันอย่างขะมักเขม้นอยู่แล้ว-เพื่อให้ศาสนาอยู่รอด
ในทัศนะของผม ภาระอันหนักหน่วงของเราชาวพุทธในอนาคต ไม่ได้อยู่ที่-ทำอย่างไรศาสนาจึงจะอยู่รอด
แต่อยู่ที่-ทำอย่างไรคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าจึงจะอยู่รอด
เพราะถ้าสิ่งที่อยู่รอดไม่ใช่คำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า เราจะเหลืออะไร?
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔
๑๗:๕๗
…………………………………