บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตั้งเปรียญ

คำว่า “พระมหา” มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า (๑)

——————————————-

ผมเขียนเรื่อง “ข้อคิดจากคำว่า ‘มัชฌิมา’ ” ไปเมื่อวานนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๖๔)

……………………………

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4058619930898380

……………………………

มีญาติมิตรแสดงความเห็นในเชิงสงสัยว่า คำนำหน้าชื่อพระว่า “พระมหา” มีมติ กฎหมาย หรือคำสั่งอะไรรับรองหรือไม่

อ่านเผินๆ เหมือนเป็นคำถามธรรมดา แต่อ่านไปอ่านมา ผมรู้สึกว่านี่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญไม่ธรรมดา

บรรดาท่านที่เคยเป็น “พระมหา” หรือพระคุณท่านที่กำลังเป็น “พระมหา” อยู่ในวันนี้ ถ้ามีคนถามว่า ที่ท่านเอาคำว่า “พระมหา” มานำหน้าชื่อนั้นท่านใช้สิทธิ์อะไร มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า

จะตอบว่าว่ากระไร?

……………………………

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า – 

……………………………

มหา ๒ : (คำนาม) สมณศักดิ์ที่ใช้นําหน้าชื่อภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไป.

……………………………

เรารู้แต่เพียงว่า ภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไปใช้คำว่า “พระมหา” นำหน้าชื่อ 

แต่เราไม่เคยเห็นพระราชบัญญัติ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศ หรือแจ้งความใดๆ ที่บอกว่า ให้ภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไปใช้คำว่า “พระมหา” นำหน้าชื่อ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เราได้แต่อ้างว่า เป็นธรรมเนียมประเพณีเก่า เรียกกันอย่างนี้มาตั้งแต่โบราณ หาหลักฐานไม่ได้ว่าเริ่มมีมาตั้งเมื่อไร

ที่กระชับเข้ามาอีกหน่อยก็อ้างว่า พระภิกษุที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค เมื่อได้รับพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศแล้วมีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา”

แต่เอาสิทธิ์นั้นมาจากไหน จากคำสั่งของใคร บอกไม่ได้

ดูตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ความขึ้นมาอีกนิดหนึ่งว่า คำว่า “พระมหา” เป็น “สมณศักดิ์” 

เมื่อเป็นสมณศักดิ์ ก็พอจะจับทางได้ว่า ต้องมาจากพระมหากษัตริย์

เมื่อมาจากพระมหากษัตริย์ ก็ต้องมีพระบรมราชโองการ หรือพระราชกระแส หรือหมายรับสั่ง หรืออะไรสักอย่างเป็นหลักฐาน 

ทีนี้ก็ต้องควานหากันละว่า พระบรมราชโองการ หรือพระราชกระแส หรือหมายรับสั่ง หรืออะไรสักอย่างที่ว่านั้นอยู่ที่ไหน 

โอกาสที่จะพบเป็นศูนย์ เพราะ –

(๑) ไม่รู้ว่าจะไปเริ่มต้นควานหาที่ไหน

(๒) แม้รู้แหล่ง-เช่นหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ชาติจึงจะค้นเจอ

(๓) ที่สำคัญที่สุด ไม่มีใครที่จะไปค้น เพราะทุกคนจะอ้างว่าไม่ใช่หน้าที่ จบ

ก็คงเหลืออีกทาง คือทำไปเท่าที่พอจะทำได้

ที่ผมพอจะทำได้ก็คือควานหาตรงนั้นตรงนี้ไปตามประสาคนอยากรู้ ที่อยากรู้ก็เพราะเกี่ยวกับตัวเอง แม้ทุกวันนี้ผมจะมีคำนำหน้าชื่อเป็นอย่างอื่น แต่ครั้งหนึ่งผมก็เคยมีคำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” 

แต่พระคุณท่านที่กำลังมีคำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” อยู่ ณ วันนี้ ผมว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่ควรจะต้องลุกขึ้นมาหาข้อมูลหลักฐานมากที่สุด เพราะถ้าไล่เบี้ยเข้าจริงๆ แล้วตอบไม่ได้ จะเป็นเรื่องเสียหายมากๆ

เทียบกับยศทหารตำรวจ สามารถอ้าง “คำสั่ง” ได้ชัดเจน มีคำสั่งเมื่อวันที่เท่านั้นๆ ให้ทหารตำรวจผู้นั้นๆ มียศชั้นนั้นๆ ทหารตำรวจผู้นั้นๆ จึงมีสิทธิ์ใช้ยศชั้นนั้นๆ นำหน้าชื่อได้

แต่พระภิกษุที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค จะอ้างคำสั่งของใครว่าให้ใช้คำว่า “พระมหา” นำหน้าชื่อตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ถ้าไม่รู้ หรือไม่มีคำสั่ง ก็จะกลายเป็นว่า ใช้สิทธิ์อยู่ทุกวัน แต่ไม่รู้ว่าสิทธิ์นั้นมาจากไหน หรือถูกเรียกเป็นสิทธิ์เถื่อน

ในสังคมนิติรัฐ-คือทุกอย่างต้องมีกฎหมายรองรับ กรณีนี้ผมว่าเป็นเรื่องล่อแหลมพอสมควร-ถ้าเกิดมีใครเอากฎหมายมาเล่นแง่กับ “พระมหา” 

ในการควานหาตรงนั้นตรงนี้ ก็พอดีไปเจอ “ประกาศกรมการศาสนาเรื่อง การเรียกคำนำหน้าชื่อของพระสงฆ์”

ตามไปดูที่ลิงก์นี้ครับ 

……………………………

https://www.watmoli.com/wittaya-one/1666/

……………………………

เพื่ออำนวยความสะดวก ผมขอคัดข้อความในประกาศมาลงไว้ตรงนี้ด้วย 

……………………………

ประกาศกรมการศาสนา

เรื่อง การเรียกคำนำหน้าชื่อของพระสงฆ์[1]

—————-

        โดยที่กรมการศาสนาพิจารณาเห็นว่า ปัจจุบันนี้ การเรียกคำนำหน้าพระสงฆ์ยังเรียกกันสับสนไม่เป็นที่ยุติแน่นอนเป็นอย่างเดียว โดยเฉพาะพระสงฆ์ที่ยังไม่มีสมณศักดิ์ ยังใช้คำนำหน้าเรียกชื่อว่า “พระภิกษุ” ก็มี “พระ….”ก็มี สมควรที่จะได้ใช้คำนำหน้าเรียกชื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นการแน่นอน ทั้งนี้เพื่อจะได้ถือปฏิบัติเป็นหลักอันเดียวกัน สำหรับพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์นั้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะใช้เรียกชื่อตามราชทินนามสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานอยู่แล้ว จึงได้ตรวจสอบเรื่องราวประเพณีในหนังสือแถลงการณ์คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ และตามเชิงอรรถข้อ ๑๕ อันเป็นนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในหนังสือพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา  มหาเถรสมาคมในการประชุม ครั้งที่ ๑๕/๒๕๒๗ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบตามที่กรมการศาสนาเสนอ และให้ถือเป็นหลักปฏิบัติ ดังนี้

        ๑. พระภิกษุธรรมดาทั่วไป ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระ” เช่น พระสวัสดิ์ ควรต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระสวัสดิ์ สิริปุญฺโญ แต่ถ้าเป็นเปรียญตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ต่อท้ายด้วยฉายา เช่น พระมหาสวัสดิ์ สิริปุญฺโญ

        ๒. ถ้าเป็นเจ้าอาวาส ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระอธิการ” ต่อท้ายด้วยฉายา เช่น พระอธิการสวัสดิ์ สิริปุญฺโญ

        ๓. ถ้าเป็นเจ้าคณะตำบล หรือเป็นพระอุปัชฌาย์ ใช้คำนำหน้าเรียกชื่อว่า “เจ้าอธิการ” ต่อท้ายด้วยฉายา เช่น เจ้าอธิการสวัสดิ์ สิริปุญฺโญ

        กรมการศาสนาจึงขอประกาศให้ใช้คำนำหน้าเรียกชื่อพระภิกษุธรรมดาทั่วไป “พระ….” ใช้คำนำหน้าเรียกชื่อเจ้าอาวาสที่ไม่มีสมณศักดิ์ว่า “พระอธิการ…” ใช้คำนำหน้าเรียกชื่อเจ้าคณะตำบลและพระอุปัชฌาย์ที่ไม่มีสมณศักดิ์ว่า “เจ้าอธิการ…” ต่อท้ายชื่อด้วยฉายา ตามระเบีบการคณะสงฆ์ให้เป็นแบบเดียวกันต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๗

นายชำเลือง วุฒิจันทร์

อธิบดีกรมการศาสนา

[1] จากแถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๗ : ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๗

……………………………

ประกาศที่ยกมาเสนอนี้ยังไม่ใช่แหล่งข้อมูลชั้นปฐมภูมิ เพราะอ้าง “แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๗ : ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๗”

ถ้าจะให้หนักแน่นยิ่งขึ้นก็ต้องตามไปดูแถลงการณ์คณะสงฆ์เล่มที่อ้าง แล้วเอาแถลงการณ์คณะสงฆ์เล่มนั้นมาเป็นพยานหลักฐาน หรือไม่ก็ถ่ายภาพข้อความต้นฉบับมาให้ดู

ใครจะช่วยกันบ้าง โดยเฉพาะพระคุณท่านที่กำลังเป็น “พระมหา” ทั้งหลาย?

แถลงการณ์คณะสงฆ์เล่มนั้นเก็บไว้ที่ไหน ใครมี หรือใครอยู่ใกล้ หรือใครสามารถหาได้ จะกรุณารับภาระหน่อยได้ไหม เพื่อประโยชน์ของพวกเราเอง

ดูตามหลักฐานที่นำมาเสนอ ก็คงจะพอกล้อมแกล้มอ้างได้ว่า ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ตามประกาศกรมการศาสนาฉบับนี้

ประกาศกรมการศาสนาฉบับนี้ออกเมื่อปี ๒๕๒๗ คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ที่ใช้อยู่ก่อนปี ๒๕๒๗ ใช้ตามอำนาจอะไร ยังจะต้องอธิบายกันอีก

เรื่องยังไม่จบแค่นี้ เพราะมีมติมหาเถรสมาคมเรื่องเดียวกันนี้ออกมาเมื่อปี ๒๕๔๖ ค้นไปค้นมาก็ไปเจอเข้าอีก

เพราะฉะนั้น ต้องคุยกันต่อนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๐:๕๒

……………………………

คำว่า “พระมหา” มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *