ราศี ไม่ใช่ “ราศรี” (บาลีวันละคำ 2,959)
ราศี ไม่ใช่ “ราศรี”
และ “ราศรี” ไม่มี มีแต่ “ศรี”
“ราศี” อ่านว่า รา-สี บาลีเป็น “ราสิ” (รา-สิ, –สิ สระ อิ ไม่ใช่สระ อี) รากศัพท์มาจาก รสฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + อิณ ปัจจัย, ลบ ณ (อิณ > อิ), ทีฆะ อะ ที่ ร-(สฺ) เป็น อา “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (รสฺ > ราส)
: รสฺ + อิณ = รสิณ > รสิ > ราสิ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่ยินดี คือมารวมกันด้วยความยินดี”
“ราสิ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
1 กอง, ฝูง, หมู่ (heap, quantity, mass)
2 คลังสมบัติ, ทรัพย์สินเงินทอง (store of wealth, riches)
3 เครื่องหมายของจักรราศีทั้ง 12 (a sign of the Zodiac)
4 (คำเฉพาะในตรรกวิทยา) กลุ่ม, การรวมเป็นกลุ่ม, ชนิด, กอง, หมู่ (group, aggregate, category, congery)
บาลี “ราสิ” สันสกฤตเป็น “ราศิ” (บาลี ส เสือ สันสกฤต ศ ศาลา)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ราศิ : (คำนาม) นิกร, กอง, ปริมาณ, ประมาณ; ราศี (แห่งจักรราศิ); ประมาณในคณิตหรือพิชคณิตวิทยา; ภาคกับตัวหาร, หรือเศษกับส่วน; a heap, a quantity; a sign (of the zodiac); arithmetical or algebraic quantity; a part and its divisor; or numerator and denominator.”
ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ราศี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ราศี” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ราศี ๑ : (คำนาม) กอง, หมู่, เช่น บุญราศี ว่า กองบุญ; ชื่อมาตราวัดจักรราศี คือ ๓๐ องศา เป็น ๑ ราศี, ถ้ากลุ่มดาวใดอยู่ในช่วงจักรราศีนั้น ก็เรียกชื่อราศีตามกลุ่มดาวนั้น เช่น ราศีเมษ ราศีกรกฎ, อาทิตย์โคจรรอบจักรวาลผ่านหมู่ดาว ๑๒ หมู่ และดาวหมู่หนึ่ง ๆ เรียกว่า ราศี ๑. (ส. ราศิ; ป. ราสิ).
(2) ราศี ๒ : (คำนาม) ความสง่างาม, ลักษณะดีงามของคน, เช่น หน้าตามีราศี, โดยปริยายหมายความว่า ความอิ่มเอิบ, ความภาคภูมิ, เช่น ได้ตำแหน่งดี ดูมีราศีขึ้น; สิริมงคล เชื่อกันว่าเวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า เวลากลางวันราศีอยู่ที่หน้าอก เวลากลางคืนราศีอยู่ที่เท้า.
อภิปราย :
คำว่า “ราศี” มักมีผู้เขียนเป็น “ราศรี” ซึ่งเป็นคำที่สะกดผิด
“ศรี” คำเดียวสะกดอย่างนี้ มีใช้ แต่ “ราศรี” ไม่มีใช้ มีแต่ “ราศี”
บทนิยามหรือคำอธิบายของพจนานุกรมฯ ที่คำ ราศี ๒ ที่ว่า “สิริมงคล เชื่อกันว่าเวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า …” ดังนี้ อาจชวนให้เข้าใจไปว่าคำนี้สะกด “ราศรี” น่าจะใช้ได้ เพราะ “สิริ” ในคำว่า “สิริมงคล” เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “ศรี”
พึงเข้าใจให้ชัดเจนว่า “สิริ” ในบาลีเราใช้อิงสันสกฤต สะกดเป็น “ศรี” เท่านี้ ไม่ได้สะกดเป็น “ราศรี” เพราะฉะนั้น “ราศี” กับ “ศรี” จึงเป็นคนละคำกัน
อันที่จริง พจนานุกรมฯ ไม่น่าจะเอาคำว่า “สิริมงคล” มาอธิบายความหมายของ “ราศี” ให้พัลวันกัน ควรจะแยกกันให้เด็ดขาดไปเลยว่า “สิริมงคล” คือ “ศรี” ไม่ใช่ “ราศี”
ข้อความที่ว่า “เชื่อกันว่าเวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า …” ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเห็นนิทานสงกรานต์สำนวนเดิมๆ ใช้ว่า “… เวลาเช้าศรีอยู่ที่หน้า …” ดังนี้เป็นต้น ไม่ได้ใช้ว่า “… เวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า …” คือใช้คำว่า “ศรี” ไม่ใช่ “ราศี”
แต่ก็เป็นอันยืนยันได้ว่า “ราศี” เป็นคำที่ถูกต้อง
“ราศรี” ดูรูปคำและฟังเสียงก็เหมือนกับคนหน้าตาดี แต่พึงจำว่าเป็นคำที่เขียนผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รูปร่างหน้าตาดี มีแต่ได้กำไรกับเสมอตัว
: แต่ถ้านิสัยชั่ว มีแต่ขาดทุนกับล้มละลาย
#บาลีวันละคำ (2,959)
19-7-63